“มองเห็นโอกาสจากการเป็น Trendsetter จากแนวคิดผ้าไทยใส่ได้ทุกวัน จึงกล้าที่จะเป็นตัวเอง จนลูกค้าเชื่อมั่นและติดตามแบรนด์เรามากว่า 10 ปี” เป็นแนวคิดของ เบญชญา แสงเจริญลาภสกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Benela ที่บอกเล่าถึงแนวทาง “สร้างแบรนด์” ที่เธอใช้ จนทำให้สินค้าผ้าไทยมียอดขายเติบโต ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีเรื่องราวมาฝากกัน…
เบญชญา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังกล่าว เล่าว่า สิ่งที่ทำให้สินค้าได้การตอบรับจากลูกค้า น่าจะมาจากการที่แบรนด์ของเธอกล้าฉีกกรอบผ้าไทย ด้วยการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน ด้วยการเน้นออกแบบสินค้าผ้าไทยให้มีความเป็นสตรีทแฟชั่นเพื่อให้เกิดเป็น everyday look และด้วยความที่ชิ้นงานที่ทำขึ้นเป็นงานแฮนด์เมดที่วัตถุดิบมาจากชุมชนโดยตรง ทำให้แต่ละชุดมีเรื่องเล่าไม่ซ้ำกัน ทำให้ลูกค้ารู้สึกอินไปกับสตอรี่ที่มากับชุด
นอกจากนั้นเธอยังใช้ กลยุทธ์ tailor-made ทำให้แบรนด์สร้างรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องผลิตชุดจำนวนมาก ๆ อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า เธอไม่ได้ใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่แรก โดยช่วงแรก ๆ ที่เริ่มธุรกิจ เธอยังเป็นการผลิตแบบ Fast Fashion ที่เน้นผลิตจำนวนมาก ๆ ในระยะเวลาสั้น จนวันหนึ่งตัดสินใจเบนเข็มรกิจหันมายึดแนวทางการผลิตแบบ Slow Fashion ที่จะเน้นผลิตไม่เยอะ แต่เน้นคุณภาพสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสถึงคุณค่าของชุดที่ผลิตขึ้น ซึ่งสิ่งที่ได้รับหลังจากเปลี่ยนแนวคิดกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ เพราะลูกค้ารู้สึกสนุกที่ได้รอคอยว่าแบรนด์จะผลิตชุดแบบใดออกมา ซึ่งแรก ๆ เธอก็กลัวว่าจะไม่เวิร์ก แต่กลายเป็นลูกค้าเข้าใจ จนทำให้เธอมั่นใจยิ่งขึ้น
“รูปแบบการผลิตแบบ tailor-made ที่เป็น Slow Fashion ช่วยเลี่ยงการผลิตจำนวนมาก จึงไม่เกิดการค้างสต็อก ทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนเรื่องสต็อกสินค้าล้น รวมถึงยังทำให้เรามีเวลาคิดสร้างสรรค์ต่อยอดชิ้นงานให้ดียิ่งขึ้น จนทำให้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าเดิมที่เป็นคนอายุ 35-70 ปี เพิ่มมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นด้วย” เธอกล่าวเรื่องนี้
พร้อมกับพูดถึงอีกหนึ่ง “กลยุทธ์สร้างยอดขาย” ที่เธอนำมาใช้เพิ่มเติมว่า ด้วยความที่อยากให้ผ้าไทยไปได้ไกล เธอจึงมองว่าช่องทางอีคอมเมิร์ชสำคัญมาก ๆ โดยสิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือ เล่าเรื่องให้เป็นเพื่อดึงดูดใจกลุ่มลูกค้า เธอจึงหยิบเรื่องราวผ้าทอแต่ละผืนมาเรียงร้อยเป็นเรื่องเล่าในรูปแบบวิดีโอคอนเทนต์ให้ลูกค้าเห็นที่มาชุดไทยแต่ละชุดที่ทำ
ส่วนอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของแบรนด์คือ การใช้แพลตฟอร์ม TikTok Shop มาเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขาย โดยใช้มาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ทำให้จากเดิมที่สัดส่วนลูกค้ากรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดอยู่ที่ 60:40 กลายมาเป็น 50:50 และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอีก 30% ภายใน 2 ปี โดยช่องทางดังกล่าวนี้ เธอบอกว่าช่วยพากลุ่มลูกค้าพรีเมียมมาเจอแบรนด์ของเธอ รวมถึงช่องทางนี้ยังช่วยสร้าง seamless experience ให้แบรนด์ได้อย่างมาก จนการทำวิดีโอคอนเทนต์กลายเป็นไลฟ์สไตล์ประจำวันของเธอและแบรนด์ Benela ไปแล้ว และนี่เป็นเรื่องราวของผู้ประกอบการ “ธุรกิจผ้าไทย” แบรนด์นี้ ที่เอสเอ็มอีอื่น ๆ นำไปพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางได้.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]