“งานปักผ้า” เป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นงานฝีมือที่ผสมผสานงานศิลปะ ทั้งนี้เทคนิคการปักผ้าสามารถนำไปต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลายเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าสนใจให้ชิ้นงานได้เป็นอย่างดี อย่าง “ฟีม-นวพร สุวรรณโลหิต” ที่มีไอเดียปักลวดลายลงบนผ้าทำเป็นสินค้าหลากหลาย ทำให้ชิ้นงานดูมีเอกลักษณ์สวยโดดเด่น ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณา…
ฟีม-นวพร เจ้าของผู้ที่ทำงานแฮนด์เมดเกี่ยวกับการปักผ้า ที่ใช้ชื่อว่า @fymns.embroidery ขายสร้างรายได้ นอกจากนั้นยังเปิดคอร์สสอนการปักผ้าแบบออนไลน์อีกด้วย โดยเจ้าตัวเล่าว่า…ก่อนหน้าที่จะมาจับงานปักผ้าและทำเป็นอาชีพจริงจัง นั้นเคยทำงานเกี่ยวกับด้านเสื้อผ้ามาก่อน โดยตัวเองเรียนจบสาขาการออกแบบแฟชั่น จากมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพฯ ทำให้มีความสนใจในการทำงานเกี่ยวกับการตกแต่งเสื้อผ้าเป็นพิเศษ ซึ่งจะไม่ค่อยถนัดในวิชาเขียนแบบแพทเทิร์น แต่ชื่นชอบงานฝีมือประเภทงานปักมากกว่า เวลาทำงานปักออกมามักจะทำออกมาได้ดี เลยนำงานฝีมือที่ชอบและถนัดมาต่อยอดทำเป็นอาชีพ เพราะมองว่างานปักสามารถนำไปต่อยอดทำชิ้นงานได้หลากหลาย ก็เริ่มพัฒนาและออกแบบทำชิ้นงานให้ดูทันสมัยขึ้น ช่วงแรก ๆ ก็พยายามหาแนวทางงานของตัวเอง ลองหลาย ๆ อย่างว่าถนัดในการทำงานรูปแบบไหน ในที่สุดก็ได้คำตอบว่าชอบปักงานแนว Character, Portrait, 3d Embroidery แต่กว่าที่จะแนวงานที่ชอบและได้รูปแบบชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ตามที่ต้องการก็ใช้เวลาในการฝึกฝนอยู่ระยะหนึ่ง
“การค้นหาแนวทางที่ตัวเองชอบอาจจะไม่ยากแต่ก็ไม่ได้ง่าย แค่อาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง พยายามฝึกฝนบ่อย ๆ หาข้อมูล และรับอะไรใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาฝีมือตัวเองเสมอ ที่สำคัญเลย คือ การหาแนวทางควรเป็นสิ่งที่ออกมาเป็นตัวเราจริง ๆ ไม่ใช่การคัดลอกแบบจากคนอื่น เพราะการออกแบบทำงานที่เป็นแนวทางของตัวเองนั้นจะทำให้งานมีเอกลักษณ์ในแบบของตัวเองมีความแตกต่างไม่ซํ้ากับคนอื่น” เจ้าของชิ้นงานแนะนำ
…รูปแบบลวดลายที่ออกแบบและทำออกมานั้นวาดขึ้นเอง โดยจะเน้นเป็นการผสมผสานระหว่างแนวการ์ตูนกับรูปเหมือน สีสันของชิ้นงานก็จะมีความสดใส ที่สำคัญเน้นในเรื่องของความประณีตในการปักเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ชิ้นงานออกมาสวยและมีคุณภาพ ยิ่งงานปักที่เป็นแนวรูปแบบ3D Embroiderเป็นงานปักให้ได้ชิ้นงานออกมาเป็นแบบ 3 มิติ ยิ่งต้องใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้งานที่เสมือนจริง…ฟีมบอกถึงจุดเด่นของชิ้นงานปักผ้าที่ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้า
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาทขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์จำเป็น ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคา ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่ 300-5,000 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับประเภทของชิ้นงาน รวมถึงขนาด รายละเอียด และความยากง่ายในการทำชิ้นงาน ยิ่งเป็นงานชิ้นใหญ่มีรายละเอียดเยอะ อย่าง งานปักรูปเหมือนหรืองานปักแบบ 3 มิติ ราคาก็จะสูงขึ้น …โดยชิ้นงานที่ทำนั้นมีหลากหลาย อาทิ ผ้าผูกผม, เข็มกลัด, ซองใส่ไฟแช็ก, ผ้าเช็ดหน้า, นาฬิกาผ้าปัก ฯลฯ เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย เข็ม, ไหมสีต่าง ๆ , สะดึง, ผ้าที่ใช้ปัก, ปากกาสำหรับใช้วาดลวดลายลงบนผ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ คัตเตอร์, กรรไกร เป็นต้น
ขั้นตอนการ… “ปักลายลงผ้า”
เริ่มจากพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน ว่าลูกค้าต้องการงานปักรูปแบบไหน ลวดลายอะไร ขนาดเท่าไร ต้องการโทนสีอะไร สอบถามลายละเอียดให้เรียบร้อย หลังจากที่พูดคุยทำความเข้าใจตรงกันกับลูกค้าดีแล้วก็นำข้อมูลที่ได้จากลูกค้ามาทำการออกแบบคราว ๆ ก่อนที่จะปักจริง จากนั้นก็ส่งแบบไปให้ลูกค้าดูเพื่อตรวจสอบ หากลูกค้าดูแล้วตกลงตามแบบที่ส่งไปให้ ก็นำแบบนั้นไปวาดลงบนผ้า หรือวัสดุชิ้นงานที่ลูกค้าต้องการ
เมื่อทำการลอกแบบเสร็จแล้วก็นำผ้าที่ลอกลายไว้ไปใส่สะดึงให้รูปที่จะปักอยู่กึ่งกลางสะดึงขันให้แน่นตึง เลือกสีของไหมปักให้ได้ตามที่ออกแบบ จากนั้นก็เริ่มปักตามแบบจนเสร็จสมบูรณ์ดีแล้วก็ทำการตรวจสอบความเรียบร้อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำพร้องจัดส่งให้ลูกค้าได้ทันที
“สำหรับคนที่สนใจทำงานฝีมือประเภทงานปักผ้า หากมีพื้นฐานก็ไม่ยาก แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการปักมาก่อน อยากลองเริ่มต้นทำก็สามารถเรียนรู้ฝึกหัดทำได้ไม่ยาก การปักผ้าไม่ยากแต่เป็นงานละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา และความอดทน การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แรก ๆ อาจจะยาก แต่ถ้าฝึกฝนหัดทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดทักษะมีความชำนาญขึ้นมาได้เอง” เจ้าของชิ้นงานแนะนำสำหรับคนที่สนใจงานปักผ้านี้
สำหรับผู้ที่สนใจ “งานปักผ้า” ของ ฟีม-นวพร สามารถเข้าชมสินค้า หรือสั่งทำได้ทาง อินสตาแกรม : @fymns.embroidery …ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดีย “งานปักผ้าเป็นลวดลาย” สามารถต่อยอดทำเป็นชิ้นงานได้หลากหลาย ที่สำคัญใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน