หมดเดือนเมษายนแล้ว แต่บรรยากาศร้อนปีนี้ยังคงระอุเกือบทุกภูมิภาค เรียกว่าร้อนแรงกว่าทุก ๆ ปี บางวันอุณหภูมิพุ่งสูงเกินกว่า 40 องศาฯ ค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน แต่ละบ้านคงทะลุจุดเดือดปรอทแตก ทุบสถิติประวัติศาสตร์ แต่คงไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อีกหลายชาติเจอผลกระทบจาก ภาวะโลกเดือด สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ใครจะไปเชื่อ ดินแดนทะเลทราย อย่าง เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังเจอฝนถล่มหนักน้ำท่วมเมือง

เมื่อเกิดสถานการณ์ ภาวะโลกเดือด แบบนี้ ทุกประเทศต่างเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งประชาชน หน่วยงานภาครัฐเอง ต้องพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่จะเกิดขึ้น ยิ่งฤดูฝนกำลังใกล้เข้ามาแล้ว จากร้อนระอุก็จะเปลี่ยนไปเจอพายุ ฝนถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ ภาครัฐที่รับผิดชอบปัญหา นอกจากจำเป็นต้องวางแผนรับมือแล้ว ต้องควบคุม สารพัดโครงการฯ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำ เงินภาษีประชาชน ไปใช้ก่อสร้างแก้ปัญหาให้คุ้มค่าได้ประโยชน์มากที่สุดด้วย

อย่าให้ประชาชนต้องมาเจอ ปัญหาเดือดร้อนแบบซ้ำซ้อน จนทนไม่ไหว ติดป้ายประชดภาครัฐ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ เคยนำเสนอข่าวไปแล้วถึงผลกระทบความเดือดร้อนของชาวบ้านจาก โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ก่อสร้างมาหลายปียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ทาง กรมโยธาธิการและผังเมือง นำคณะชุดใหญ่ลงพื้นที่ไปติดตามเรื่อง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 66

ชาวบ้านในอาณาบริเวณแนวก่อสร้างระบบระบายน้ำต่างดีใจ เมื่อเห็นทั้งระดับ อธิบดีฯ, ผวจ., ผู้ตรวจราชการ, โยธาฯ และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง มีทีท่าแข็งขันลงมาช่วยเร่งรัดงานส่วนที่ค้าง ให้ความเชื่อมั่นจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 โดยจะเพิ่มมาตรการให้ ผู้รับจ้าง จัดทำแผนการดำเนินงานก่อสร้างชนิดรายสัปดาห์ พร้อมคาดโทษ หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายจะ “ขึ้นบัญชี” ห้ามเข้ายื่นประมูลงาน จนถึงขั้นการบอกเลิกสัญญา และแจ้งรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการตามขั้นตอน

สำหรับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ คณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ นำข้อมูลมาตีแผ่ พบว่า งบประมาณ 148 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 19 เม.ย. 62 สิ้นสุดสัญญา 26 เม.ย. 64 ผลงาน 63.04% (ช้ากว่าแผน-24.14%) เบิกจ่าย78 ล้านบาท มีการแก้ไขสัญญา ค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 1 ก.ย. 66

สุดท้ายข้ามปีมาถึง พ.ค. 67 ยังไม่มีทีท่าจะเสร็จ หนำซ้ำหลายเดือนแล้ว ไม่มีคนงานก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ กองทิ้งเอาไว้ ชาวบ้านทนไม่ไหวทำป้ายมาติดประชด เพราะกำลังขยับใกล้หน้าฝน ต้องผจญปัญหาซ้ำซ้อนเข้าไปอีกเท่านั้นไม่พอ เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ เจาะข้อมูลมาตีแผ่เพิ่มว่า มีอีก “7 โครงการ” ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง สภาพเดียวกัน คือ ก่อสร้างยังไม่เสร็จทุกโครงการฯ อ้างเหตุผลวิกฤติโควิด ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงอุทกภัยน้ำท่วม ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง 8 โครงการก่อสร้างฯ มีเพียง “2 บริษัทฯ” ที่ประมูลงานได้ แม้ทางกรมโยธาธิการฯ จะลงมาดูแล้วเหมือนไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ตอนนี้ ชาวบ้านในกาฬสินธุ์ จึงอยากสะท้อนปัญหาไปให้ถึงระดับ กระทรวงมหาดไทย หรือ นายกฯ เศรษฐา

แผ่นป้ายใหญ่โต กรมโยธาธิการฯ อุตส่าห์ไปติดเอาไว้ตามจุดโครงการก่อสร้างฯ เขียนกำกับเอาไว้ชัดเจน “สร้างด้วยเงินภาษีประชาชน” แต่ทำไม 8 โครงการฯ ตอนนี้ ถึงไม่มีคนทำงาน เกิดปัญหาอะไรขึ้น? ทั้งที่ “ผู้รับจ้าง” เบิกจ่ายเงินไปแล้ว รวมกันไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท!!

………………………………..
เชิงผา

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…