ดังต่อไปนี้
1. ประชากรทั่วไปที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี
2. ประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน
3. ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน
4. ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเข้ารับการผ่าตัด
5. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์
ทั้งนี้วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่ได้จากการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรกลุ่มต่างๆดังกล่าวข้างต้น มีความแตกต่างกัน
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรที่มีอายุ 35 ปีหรือมากกว่า
อุบัติการณ์และความชุกของโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยครั้งที่ 6 พ.ศ.2562 – พ.ศ.2563 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากรและคณะ พบว่าความชุกของโรคเบาหวานในประชากรอายุ 30-44 ปี มีร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 ในกลุ่มอายุ 45-59 ปี และร้อยละ 21 ในกลุ่มอายุ 60 ปีหรือมากกว่า โดยร้อยละ 30 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นประโยชน์ของการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี ก็เพื่อที่จะค้นหาผู้เป็นเบาหวานแล้ว แต่ไม่มีอาการและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย เพื่อให้การรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานในระยะยาว และค้นหาผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) ซึ่งเป็นผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน เพื่อให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวาน โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดน้ำหนักในกรณีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง
ประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน (ดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 23.0 กิโลกรัม/ตารางเมตร) อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวเท่ากับหรือมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย 80 เซนติเมตรในผู้หญิง หรือเส้นรอบเอว/ส่วนสูง เท่ากับหรือมากกว่า 0.5) มีประวัติพ่อ แม่ พี่ น้อง คนใดคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ไขมันเอชดีแอล (HDL) ต่ำ มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือผู้เป็น HIV ประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นเบาหวาน ดังนั้นควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานทุกปี ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด ประโยชน์ที่ได้เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มแรก
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง
ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเพื่อหาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ได้แก่ อายุน้อยกว่า 25 ปีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ปกติ ไม่มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว และไม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติมาก่อน ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก อ้วน มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำใหม่เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ การตรวจพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์และให้การรักษา โดยการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของมารดา เช่น ครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร เป็นต้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับลูก เช่น เด็กตัวใหญ่คลอดยาก ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดแรกคลอด ความพิการบางชนิด เป็นต้น
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเข้ารับการผ่าตัด หรือได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์
ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเข้ารับการผ่าตัดหลายรายอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานหรือมีความเสี่ยง การเจ็บป่วยหรือการผ่าตัด โดยเฉพาะถ้าเป็นการเจ็บป่วยหนัก หรือการผ่าตัดใหญ่ ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนหลายตัวที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานและลดการหลั่งของอินซูลิน ยาสเตียรอยด์ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ตับมีการสร้างน้ำตาลออกมามากขึ้น ทำให้ผู้เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ระดับน้ำตาลจะสูงมากน้อยเพียงใดขึ้นกับความรุนแรงของเบาหวาน ความรุนแรงของการเจ็บป่วย และขนาดของยาสเตียรอยด์ที่ใช้ ระดับน้ำตาลที่สูงในขณะอยู่โรงพยาบาล หรือหลังผ่าตัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล และส่งผลเพิ่มระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจะช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงดังกล่าว
วิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ใช้การตรวจเลือด ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายชนิด (รายละเอียดขอให้อ่านบทความจากสมาคมโรคเบาหวานฯเดือนหน้า) ผู้ที่อายุน้อย และมีความเสี่ยงต่ำอาจตรวจคัดกรองโดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานในเบื้องต้น (อ่านรายละเอียดใน website สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.dmthai.org)
ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทสไทยฯ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์