อินเดียอยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนด ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบมาราธอน โดยจะเป็นการทยอยให้ประชาชนใช้สิทธิตามภูมิภาค ในวันที่ 19 เม.ย., 26 เม.ย., 7 พ.ค., 13 พ.ค., 20 พ.ค., 25 พ.ค. และ 1 มิ.ย. ส่วนการนับคะแนนจะเริ่มในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ ขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ที่ราว 968 ล้านคน ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตย ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก
การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย เป็นการเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่ทั้ง 543 ที่นั่งของโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองต้องได้รับเลือกตั้งอย่างน้อย 272 ที่นั่ง เพื่อการครองเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวในโลกสภา ซึ่งพรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างขาดลอย ด้วยการกวาดที่นั่งเพียงพรรคเดียว 303 ที่นั่ง ทำให้โมดีดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ต่อเนื่องแล้วอย่างน้อยสองสมัย นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2557
ด้านพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฝ่ายค้าน ของนายราหุล คานธี ได้รับการเลือกตั้งเพียง 52 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น พรรคบีเจพียังคงได้รับความนิยมในระดับสูงมากจากประชาชน หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นอีกครั้งที่พรรคบีเจพีได้รับชัยชนะ และโมดีรักษาตำแหน่งการเป็นผู้นำอินเดียติดต่อกันสามสมัย “อย่างไม่ยากเย็น”
อนึ่ง รัฐธรรมนูญของอินเดียระบุชัดเจนเกี่ยวกับ “ความเป็นกลางทางศาสนา” แต่การที่รัฐบาลชาตินิยมฮินดู ครองอำนาจมานานต่อเนื่อง 1 ทศวรรษ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สร้างความรู้สึกแปลกแยกมากขึ้น ให้กับชุมชนชาวมุสลิม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยไว้วางใจชุมชนชาวฮินดูอย่างเต็มร้อยอยู่แล้ว
ทั้้งนี้ทั้งนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้โมดีได้รับความนิยมจากชาวอินเดียในระดับสูงมาตลอด นั่นคือ การขับเคลื่อนนโยบายชาตินิยมกับชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ล่าสุด คือการเปิดวัดพระราม ที่เมืองอโยธยา ในรัฐอุตตรประเทศ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยโมดีกล่าวว่า ศาสนสถานแห่งนี้ ถือเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งชาติบทใหม่”
พรรคบีเจพีถือว่า การเปิดวัดพระรามคือชัยชนะทางการเมือง และยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องศาสนา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียผลักดันแนวคิดที่เรียกว่า “ฮินดูทวา” ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการบริหาร ด้วยเหตุผลว่า เป็นศาสนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือ
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,884 ล้านบาท) ที่ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ได้รับเสียงวิจารณ์และจุดกระแสถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมอินเดีย ไม่เว้นแม้แต่จากผู้แทนศาสนาฮินดูบางส่วน ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเหมาะสม” ของการเปิดวัดพระราม ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ส่วนฝ่ายค้านอินเดียมองว่า วัดพระรามคือ “โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง”
ทว่าเหตุผลสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการที่พื้นที่ก่อสร้างวัดพระรามแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ตั้งของมัสยิดบาบรี แต่ชาวฮินดูเชื่อว่า มัสยิดแห่งนี้ก่อสร้างอยู่บนซากวัดที่ปรักหักพัง และวัดแห่งดังกล่าวคือ สถานที่ประสูติของพระราม กลายเป็นความบาดหมางยืดเยื้อนานนับศตวรรษ จนบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลระหว่างศาสนาครั้งใหญ่ เมื่อปี 2535 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย
หลังจากนั้น ศาลฎีกาอินเดียมีคำพิพากษาเมื่อปี 2562 ยุติข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้วยการกำหนดพื้นที่ให้ชาวมุสลิมก่อสร้างมัสยิด ห่างจากจุดขัดแย้งราว 25 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่เดิมเป็นของชาวฮินดู นำไปสู่โครงการก่อสร้างวัดพระราม แม้ชาวมุสลิมยังคงไม่พอใจ แต่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องทางศาสนากลับมาเป็นประเด็นทางสังคมของอินเดียอีกครั้ง เมื่อพรรคคองเกรสซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านอินเดีย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อไม่นานมานี้ ว่าโมดีละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง จากการหาเสียงด้วยการบิดเบือนความจริง การมีเจตนาสร้างความแตกแยก และความเกลียดชังทางศาสนา
นอกจากนั้น พรรคคองเกรสยังกล่าวหาผู้นำอินเดีย พยายามใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคม ด้วยการพุ่งเป้าปรามาสพลเมืองบางกลุ่มอย่างเจาะจง จากการที่โมดีกล่าวว่า หากพรรคคองเกรสชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ งบประมาณของรัฐจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับครัวเรือนที่มีบุตรมากกว่า และ “ผู้ที่แทรกซึมเข้ามาในอินเดีย” ซึ่งบรรดาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมองว่า เป็นการสื่ออย่างมีนัยถึงชาวมุสลิมในประเทศ
อีกประเด็นหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 อินเดียทำหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอด ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่ง หรือ “จี20” และจัดทำป้ายชื่อประเทศของตัวเองว่า “ภารัต” (Bharat) ซึ่งเป็นชื่อภาษาสันสกฤตของ “อินเดีย” ที่เป็นภาษาอังกฤษ เรียกเสียงฮือฮาและคำวิจารณ์จากหลายฝ่ายในเวลาเดียวกัน
รัฐธรรมนูญของอินเดียระบุชัดเจน เกี่ยวกับชื่อ ภารัต และอินเดีย ว่าคือชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกซึ่งระบุอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่ามีชื่อสองชื่อในการใช้เรียกประเทศของตัวเอง สำหรับชาวอินเดีย คำว่า ภารัต สะท้อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์มากกว่า การใช้คำว่า อินเดีย ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากล
สำหรับโมดี การพัฒนาและสร้างเสริมอิทธิพลให้กับอินเดีย เป็นมากกว่าการเรื่องทางการเมือง แต่สะท้อนความต้องการทั้งหมด “บนพื้นฐานของความเป็นฮินดู” ที่ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ฐานราก และค่อนข้างแน่นอนว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของความยิ่งใหญ่ทางการเมืองให้กับโมดี ในฐานะผู้นำรัฐบาลคนที่สองของอินเดียเท่านั้น นับตั้งแต่นายชวาหะร์ลาล เนห์รู ซึ่งสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามสมัยติดต่อกัน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES