แต่ความพยายามดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งที่สอง ในรอบ 10 ปี กลับประสบความล้มเหลว เนื่องจากสหรัฐ วีโต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) แม้หลายประเทศแสดงความกังวลเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาก็ตาม

เมื่อเดือน พ.ย. 2490 สมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) รับรองแผนแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ ตามข้อมติที่ 181 ออกเป็นรัฐยิว และรัฐอาหรับ โดยมีเขตระหว่างประเทศพิเศษสำหรับเมืองเยรูซาเลม

ทว่าในเดือน พ.ค. 2491 อิสราเอลได้ประกาศเอกราช ส่งผลให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งกินเวลานานถึง 8 เดือน และอิสราเอล ได้รับชัยชนะในปีถัดมา หลังจากนั้น ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 760,000 คน ก็หลบหนี หรือถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งยูเอ็นจัดพิธีรำลึกอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อเดือน พ.ค. 2566

แม้ภายหลังสงคราม 6 วัน ในปี 2510 ยูเอ็นเอสซี รับรองข้อมติที่ 242 ซึ่งเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอล ถอนกำลังออกจากดินแดนที่ยึดครองระหว่างเกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา และเมืองเยรูซาเลม แต่ความคลุมเครือทางภาษาระหว่างมติฉบับภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อน และขอบเขตของการถอนตัวที่จำเป็น ไม่มีความชัดเจน

เมื่อเดือน พ.ย. 2517 นายยัสเซอร์ อาราฟัต หัวหน้าองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกต่อยูเอ็นจีเอ ที่นครยิวยอร์ก ซึ่งในวันต่อมา ยูเอ็นจีเอ ก็รับรองสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ให้มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระ และเป็นเอกราช ตลอดจนมอบสถานะ “ผู้สังเกตการณ์” แก่พีแอลโอ ในฐานะตัวแทนของชาวปาเลสไตน์

กระนั้น หนึ่งในโครงการริเริ่มด้านสันติภาพที่เข้มแข็งที่สุด ไม่ได้มาจากยูเอ็น โดยในปี 2536 อิสราเอล กับพีแอลโอ ซึ่งประกาศเอกราชรัฐปาเลสไตน์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อปี 2531 ยุติการเจรจาลับนานหลายเดือนในกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามใน “ปฏิญญาว่าด้วยหลักการการปกครองตนเองของปาเลสไตน์ และในปี 2537 อาราฟัตได้เดินทางกลับไปยังดินแดนปาเลสไตน์ หลังถูกเนรเทศเป็นเวลานาน ก่อนที่เขาจะจัดตั้งรัฐบาลปาเลสไตน์ หรือหน่วยงานปกครองฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์

อนึ่ง การตัดสินใจของยูเอ็นเอสซี ว่าจะปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับจุดยืนของสหรัฐ ที่มีอำนาจวีโต้อยู่เสมอ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2515 รัฐบาลวอชิงตันใช้อำนาจวีโต้มากกว่า 30 ครั้ง เพื่อปกป้องพันธมิตรสำคัญอย่างอิสราเอล แต่ในบางครั้ง สหรัฐก็ช่วยให้มติสำคัญผ่านด่านยูเอ็นเอสซีไปได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น การยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เมื่อปี 2554 ไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซี นำไปสู่มติของที่ประชุมยูเอ็นจีเอ อนุมัติสถานะผู้สังเกตการณ์ให้แทน เมื่อปี 2555 โดยสหรัฐและอิสราเอลคัดค้าน

ส่วนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นตามหลักการ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นเอสซีก่อน แล้วจึงส่งเข้าสู่การลงมติของยูเอ็นจีเอ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES