พรรคเสรีประชาธิปไตย ( แอลดีพี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา เลือกนายฟุมิโอะ คิชิดะ อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม วัน 64 ปี ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทนนายโยชิฮิเดะ ซึงะ ซึ่งขอสละสิทธิ์จากการแข่งขันครั้งนี้ โดยชัยชนะของคิชิดะจะเป็นการส่งให้เจ้าตัวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เนื่องจากพรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาไดเอท ซึ่งมีหน้าที่ลงมติรับรองบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล

ทั้งนี้ คิชิดะได้รับการคาดหมายและจับตามานานแล้ว ในฐานะ “ทายาทการเมือง” ของอดีตนายกรัฐมนตนีชินโซ อาเบะ อย่างไรก็ตาม คิชิดะพ่ายแพ้ให้กับซึงะ ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพี เมื่อปีที่แล้ว นับจากนั้น คิชิดะซึ่งมีจุดยืนค่อนข้างชัดเจนไปทางสายกลาง สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนภายในพรรคแอลดีพี เพียงพอมีบารมีในฐานะหนึ่งในแกนนำของพรรค และ “ปฏิรูปภาพลักษณ์” ด้วยการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ส่งผลให้เข้าถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวและวัยทำงานได้มากขึ้น สร้างฐานเสียงใหม่และเรียกคะแนนนิยมกลับมาได้มากขึ้นเป็นลำดับ

นายโยชิฮิเดะ ซึงะ ( คนซ้าย ) แสดงความยินดีกับนายฟุมิโอะ คิชิดะ

คิชิดะให้คำมั่นว่า ต้องการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพรายได้ปานกลาง และจะเพิ่มการให้ความสนับสนุน “กลุ่มเปราะบางด้านแรงงาน” หมายถึงแรงงานซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีบุตรหลานยังอยู่ในวัยเยาว์

ขณะเดียวกัน คิชิดะยังเสนอจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคแอลดีพี “นานสูงสุด 3 ปี” แต่ยกเว้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค กระนั้นเรื่องนี้อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ระหว่างคิชิดะหับบรรดาสมาชิกอาวุโสภายในพรรค หนึ่งในนั้นคือเลขาธิการพรรคแอลดีพีคนปัจจุบัน คือนายโทชิฮิโร นาไก ซึ่งมีอายุมากถึง 82 ปีแล้ว แต่ยังคงไม่วางมือ

South China Morning Post

ย้อนกลับไปในสมัยร่วมงานกับรัฐบาลสมัยที่สองของอาเบะ คิชิดะดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศยาวนานเกือบ 5 ปี ปฏิบัติภารกิจสำคัญมากมายในฐานะนักการทูตหมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น รวมถึงการให้การต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น ซึ่งเยือนกรุงโตเกียว เมื่อปี 2559 และกรณีข้อพิพาท “หญิงบำเรอ” สมัยสงครามโลกกับเกาหลีใต้ ที่คิชิดะยืนกรานว่า “ทุกอย่างยุติแล้ว” ตามข้อตกลงระดับทวิภาคี ที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2558 ซึ่งรัฐบาลโตเกียวจัดตั้งกองทุนมูลค่ามหาศาล เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และทายาทของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ทั้งนั้น คิชิดะไม่มีเวลาเฉลิมฉลองกับการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองของญี่ปุ่นได้นานนัก เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 21 ต.ค.นี้ และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 28 พ.ย.นี้ นี่คือ “การแข่งขันอย่างแท้จริง” ในการ “ชี้ชะตาและกำหนดอนาคต” ของคิชิดะ ว่าจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับการมีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพในระยะยาว และพรรคแอลดีพีจะยังคงได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และครองเสียงข้างมากได้อย่างเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้ต่อไปหรือไม่

หนังสือพิมพ์ “โยมิอุริ” ภาคภาษาอังกฤษ เสนอข่าวเกี่ยวกับนายฟุมิโอะ คิชิดะ

วาระเร่งด่วนตอนนี้ แน่นอนคือการเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่แม้จะบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบได้ไม่นานนัก เนื่องจากจะต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว แต่โฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ท่ามกลางความนิยมของพรรคแอลดีพีที่กำลังตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากการขาดความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 แม้ตอนนี้สถิติผู้ป่วยรายวันในญี่ปุ่นกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ขณะเดียวกัน การที่ซึงะ “ลาออกอย่างกะทันหัน” กระตุ้นความทรงจำของหลายฝ่าย ว่าญี่ปุ่นกำลังหวนเข้าสู่ช่วงเวลาระหว่างปี 2549-2555 ที่การเมืองภายในไม่มีเสถียรภาพ และพรรคการเมืองใหญ่ “แก้ปัญหา” ด้วยการ “เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีทุกปี” เรื่องนี้เป็นหนึ่งใน “การบ้านชิ้นสำคัญ” ของคิขิดะ ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองกับประชาชน ว่าจะทำให้ญี่ปุ่นไม่หวนกลับไปเผชิญกับสถานการณ์แบบนั้นอีก.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP