ซึ่งสัมพันธ์แบบเปิดในที่นี้หมายถึง… “ไม่ผูกมัด…มากกว่าความต้องการที่จะคบหาระยะยาวและการแต่งงาน” และเทรนด์นี้ก็… “นำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์ผีหลอก (Ghosting) ในความสัมพันธ์” โดยคนรุ่นใหม่นิยมมองหาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ผ่าน “แอปพลิเคชันหาคู่” ที่ขณะนี้มีให้เลือกใช้หลากหลายแพลตฟอร์ม โดยกระแสนิยมเรื่องนี้ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์”…

เกิด “นิยาม” เกิด “ศัพท์สแลง” ขึ้นมา

เพื่อ “ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น”

คือคำว่า “ความสัมพันธ์แบบผีหลอก”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีคำอธิบายปรากฏการณ์ที่ได้ถูกสะท้อนไว้ผ่านทางบทความชื่อ… “จิรักหรือจิหลอกหรือมาหยอกแค่หลอกให้ฝัน : ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบผี ๆ ในแอปพลิเคชันหาคู่” ที่จัดทำไว้โดย ภัคธีมา เนื้อทอง และ กฤษณะ โชติรัตนกมล นักวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งบทความนี้ได้เผยแพร่อยู่ใน www.sac.or.th โดยได้มีการฉายภาพให้สังคมไทยได้ศึกษาทำความเข้าใจถึง “รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่” ของคนรุ่นปัจจุบัน ที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อน ๆ โดยเฉพาะภายหลังจากการเข้ามามีบทบาทของ “เทคโนโลยีหาคู่-หาเพื่อน” ผ่านการใช้งาน “แอปพลิเคชันต่าง ๆ”

เกิดลักษณะความสัมพันธ์ที่โดดเด่น

น่าสนใจน่าศึกษาในแง่ปรากฏการณ์

ทาง ภัคธีมา และ กฤษณะ ผู้จัดทำบทความดังกล่าว ได้สะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ว่า… ภาพแทนที่อธิบาย ความสัมพันธ์ของวัยรุ่น คน Gen Z ได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ “แบบหลอก ๆ หยอกๆ ให้ติดใจ…แล้วหายไป” นั้น ในมุมของคนรุ่นใหม่แล้ว ความสัมพันธ์รูปแบบนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติ ที่หลายคนต่างก็เคยพบคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะกับ ผู้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางแทนในการคบหาดูใจ หรือมีการ พึ่งพาแอปพลิเคชันหาคู่ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมี “จุดน่าสนใจ” คือ…ไม่เพียงจะพึ่งพาแอปหาคู่เท่านั้น แต่ผู้ที่ใช้งานเหล่านี้…

ยังได้ “มีการสร้างเครือข่าย” ขึ้นมา…

เพื่อ “แบ่งกลุ่มผู้ที่ยังโสด และไม่โสด”

ผู้จัดทำบทความยังได้มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้อีกว่า… ผู้ใช้แอปหาคู่เหล่านี้ ได้มีการสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมา เพื่อจำแนกกลุ่มของคนโสดและคนไม่โสดผ่านแอปหาคู่ ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีคิดและทัศนคติของคนเจเนอเรชันซี หรือ กลุ่มคนช่วงอายุ 18-24 ปี ที่มีต่อการหาคู่ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนวัยอื่น ๆ ทั้งในแง่ความคาดหวัง อารมณ์ และประสบการณ์ โดยลักษณะเด่น ๆ ของคนเจเนอเรชันนี้คือ คนเจเนอเรชันซีมักจะมีวิธีหาคู่เดตแบบซื่อตรง เป็นตัวของตัวเอง มีขอบเขตชัดเจนมากในเรื่องต่าง ๆ สังเกตได้จากการ กำหนดขอบเขตสเปกความคาดหวัง ที่มักถูกระบุไว้ในแอปหาคู่ที่ใช้งาน…

เพื่อให้ง่ายต่อการมองหาการจับคู่

ทำให้ง่ายต่อการเริ่มต้นความสัมพันธ์

นอกจากนั้น ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นยังระบุไว้ถึงสิ่งที่ผลการศึกษาพบอีก นั่นก็คือ “เทรนด์ความสัมพันธ์ยุคใหม่” ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่นั้น ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการเดตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการ “ค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ” จากการที่ทำให้ได้รู้จักคนใหม่ ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความคิดเห็นกับคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกันอีกด้วย โดยเฉพาะกับการค้นหา “ความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องมีคำนิยาม” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากคนเจเนอเรชันซีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกลุ่มคนเจเนอเรชันดังกล่าว ไม่ต้องการผูกมัดแบบการคบหาระยะยาว และ ไม่ได้คาดหวังการแต่งงาน นั่นเอง…

หรือเรียกว่า “ความสัมพันธ์แบบเปิด”

นี่เป็นการฉายภาพ “ปรากฏการณ์”

ทั้งนี้ จากความต้องการของคนเจเนอเรชันนี้ที่นิยมความสัมพันธ์แบบเปิด เกิด “ปรากฏการณ์ผีหลอก (Ghosting)” ขึ้นมา ทาง ภัคธีมา และ กฤษณะ ได้อธิบาย “จุดเริ่มต้น-ความหมาย” ของ “ความสัมพันธ์ผีหลอก” นี้ไว้ว่า… คำนี้มีต้นกำเนิดราวปี 2000 ความสัมพันธ์แบบผีหลอก หรือ Ghosting จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิด โดยศัพท์หรือคำสแลงนี้มักถูกนำมาใช้เรียก “พฤติกรรมหายตัวไปของคนที่คุย” และก็ไม่เพียงใช้เรียกเฉพาะแค่คนที่คบหาดูใจหรือคุยกันอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อน คนที่ทำงาน กระทั่งญาติพี่น้องครอบครัว ซึ่งมีลักษณะของการที่ คบอยู่ คุยอยู่…แล้วจู่ ๆ ก็หายไปไม่มีปี่มีขลุ่ย…

จนใช้คำว่า “ผีหลอก” มา “เปรียบเทียบ”

ใช้อธิบาย “รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่”

เทรนด์นี้ “มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น”

อะไร? เช่นไร? ตอนหน้ามาดูกัน…