ขณะนี้เปิดบริการท่าเรือโฉมใหม่แล้ว 9 ท่า  ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า  ท่าสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าสาทร และ ท่าเตียน  อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 ท่า จะทยอยเสร็จภายในปีนี้ทั้งหมด  ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% เสร็จเม.ย. ท่าพระราม 5 ผลงาน 45% เสร็จ พ.ค. ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% เสร็จ ส.ค.ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% เสร็จพ.ย.และท่าเกียกกาย ผลงาน 24% เสร็จ ธ.ค.

กรมเจ้าท่าเริ่มพัฒนาท่าเรือมาตั้งแต่ปี 2562  เนื่องจากท่าเรือเดิมใช้งานมานานมีสภาพเก่าโทรม พื้นที่คับแคบ  ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร  ท่าเรือใหม่ปรับปรุงให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอบริการประชาชน เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร  ออกแบบให้มีอัตลักษณ์สวยงามเหมาะสมกับพื้นที่โดยรอบ รองรับการบริการประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส

แนวคิดออกแบบทางสถาปัตยกรรม  ท่าเรือพระปิ่นเกล้า  ลดทอนรูปแบบมาจากเรือนแพริมน้ำเจ้าพระยาด้วยอาคารเรือนหมู่(เรือนหลายหลังเชื่อมต่อกัน) หลังคาทรงจั่วสูง พร้อมตกแต่งหน้าบันและกรอบอาคารด้วยไม้เทียม เลียนแบบฝาปะกนของเรือนแพริมน้ำ  ท่าเรือพระราม 5 สถาปัตยกรรมโมเดิร์น หลังคาเรียบแบน ผนังก่อด้วยอิฐแบบไม่ฉาบปูน พร้อมกระจกบานใหญ่โปร่งโล่ง แสดงถึงความทันสมัยและรูปแบบใหม่ของท่าเรือและพื้นที่โดยรอบ  ท่าเรือปากเกร็ด  โมเดิร์นผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบบารอก ตกแต่งบัวปูนปั้นตามเสาอาคาร หลังคาทรงจั่วสะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านพื้นที่ปากเกร็ดสู่ยุคสมัยใหม่  

ท่าเรือสะพานพระราม 7 ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกแบบท่าเรือที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด สื่อถึงก้อนพลังงาน ใช้ปรากฏการณ์ของแสงกับผิววัสดุทำให้สีอาคารเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน แสงธรรมชาติภายในอาคาร และโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานใช้เอง  ท่าเรือเกียกกาย  ได้แรงบันดาลใจจากเรือนไทยภาคกลาง หลังคาทรงจั่วสูงคลุมตัวอาคาร สร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้นโดยใช้ส่วนกลางของหลังคายกสูงตกแต่งลดเส้นสายของมณฑปให้เหลือแค่เส้นสายทรงปลายแหลม เพื่อให้เข้ากับบริบทโดยรอบอาคารทั้งวัดและรัฐสภา

นอกจากนี้จะของบปี 2568 จำนวน 169.4 ล้านบาท ปรับปรุงอีก 4 ท่า  ท่าโอเรียนเต็ล ท่าเทเวศร์ ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา ให้เสร็จภายในปี 2568 ที่เหลือ 11 ท่า  ท่าราชวงศ์ ท่าวัดเทพากร ท่าพิบูลสงคราม 1 ท่าพิบูลสงคราม 2 ท่าวัดเทพนารี ท่าวัดตึก ท่ารถไฟ ท่าสี่พระยา ท่าวัดเขมา ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง จะของบปี 2569 จำนวน 180.9 ล้านบาท พัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ครบ 29  ท่าเรือในปี 2570

สำหรับต่างจังหวัดมีโครงการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) หรือวงแหวนแห่งอันดามัน  สนับสนุนการท่องเที่ยวอ่าวพังงา  4 โครงการ งบประมาณ 760 ล้านบาท ปีงบฯ2567 ได้รับแล้ว 360 ล้านบาท  ก่อสร้างเฟสแรก  2 โครงการเดือน ส.ค. นี้ให้เสร็จปี 2569  1.โครงการปรับปรุงท่าเรือมาเนาะห์ เกาะยาวน้อย จ.พังงา ค่าก่อสร้าง 175 ล้านบาท

ปรับปรุงท่าเรือเดิม อาทิ อาคารบริการ-ที่พักนักท่องเที่ยว รองรับเรือบรรทุกสินค้า ผู้โดยสาร เรือเร็วและเรือหางยาว พื้นที่จอดเรือและลานจอดรถยนต์และจักรยานยนต์ (จยย.)  โดยนำสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยพื้นถิ่นมาเป็นแนวคิดออกแบบ แสดงการต้อนรับ ความเป็นมิตร ความอบอุ่น แก่ผู้มาเยือน สัมผัสความเรียบง่าย สงบ ตามมนต์เสน่ห์ของเกาะยาวน้อย การใช้วัสดุธรรมชาติ หรือลวดลายฉลุเอกลักษณ์ภาคใต้มาประกอบเพิ่มเติม

2.โครงการปรับปรุงท่าเรือช่องหลาด เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา ค่าก่อสร้าง 185 ล้านบาท ปรับปรุงท่าเรือเดิมทั้งอาคารบริการ-ที่พักนักท่องเที่ยว รองรับเรือบรรทุกสินค้า ผู้โดยสาร เรือเร็ว เรือหางยาว พื้นที่จอดเรือ ลานจอดรถยนต์และ จยย.  ออกแบบสถาปัตยกรรมจาก “เรือหัวโทง” เรือประมงฝั่งทะเลอันดามัน เป็นรูปทรงตัวอาคารโปร่งโล่ง เน้นพื้นที่ใช้สอยและระบายอากาศ สื่อความเรียบง่ายใช้งานได้ทุกฟังค์ชั่นทั้งวัสดุธรรมชาติเพิ่มเอกลักษณ์การตกแต่งด้วยศิลปะของผ้าบาติก

นอกจากนี้เตรียมของบปี 2568 จำนวน 400 ล้านบาท ดำเนินการเฟส2อีก 2 โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ต้นทางท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต และ ปลายทางท่าเทียบเรือท่าเลน จ.กระบี่

เส้นทางเดินเรือวงแหวนแห่งอันดามันเริ่มจากต้นทางท่าเรือที่ 1 ท่าเรือท่าเลน ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ ไปท่าเรือที่ 2 ท่าเรือมาเนาะห์ ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา สู่ท่าเรือที่ 3 ท่าเรือช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา และปลายทางท่าเรือที่ 4 ท่าเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนนและความแออัดของสนามบินภูเก็ต  ลดระยะเวลาเดินทางถนนจาก จ.กระบี่ มายัง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 165 กม. ใช้เวลา 3 ชม. 30 นาที ทางเรือ 41 กม. เพียง 50 นาที

แปลงโฉมท่าเรือโดยสารให้สวยฉ่ำ…เพิ่มมนต์เสน่ห์เดินทาง”ทางน้ำ”.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่