“ตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำงานปั้นจริงจัง เพราะไม่รู้จะทำได้ไหม ช่วงแรก ๆ ทะเลาะกับพ่อบ่อยมาก (หัวเราะ) แต่พอปั้นมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มมั่นใจว่า…เราทำได้ และเริ่มหลงรักการปั้นมากขึ้น” เป็นจุดเริ่มต้นที่ “น้องนิวเยียร์-อัญมณี กระจ่างช่วย” วัย 16 ปี “สาวน้อยประติมากร” บอกเล่าให้เราฟัง โดยเธอได้ใช้เวลากว่า 2 ปีปั้น “พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9” ซึ่งผลงานเธอได้รับ “รางวัลเชิดชูเกียรติประติมากรอายุน้อยที่สุดในโลก” จาก “โครงการเด็กและเยาวชน ต้นกล้าคนดีของสังคม” และวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปรู้จักกับสาวน้อยคนนี้ กับเส้นทาง “ประมาติกรวัยใส” ของเธอ…

“คุณพ่อเป็นครูคนแรกที่สอนการปั้นและสอนวาดรูป โดยงานปั้นนั้นพอคุณพ่อเห็นว่าเราทำได้ดี ท่านก็เลยให้เราขึ้นชิ้นงานอย่างการปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9” ประติมากรวัยใส ที่มีอายุเพียง 16 ปี “น้องนิวเยียร์-อัญมณี” เล่าให้ฟังเรื่องนี้ ก่อนที่เธอจะเล่าประวัติส่วนตัวให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ปัจจุบันเธอกำลังจะขึ้นชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) เธอเป็นลูกสาวคนโตของ คุณพ่อเอก กระจ่างช่วย ที่มีอาชีพจิตรกรและประติมากร กับ คุณแม่วารี ศรีวิเชียร โดยเธอมีน้องสาว 1 คน ชื่อ พรสวรรค์ กระจ่างช่วย

น้องนิวเยียร์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจงานศิลปะว่า เป็นเพราะคุณพ่อเป็นศิลปิน ทำให้ตั้งแต่จำความได้ เธอก็เห็นคุณพ่อวาดรูปและปั้นงานแล้ว ซึ่งคุณพ่อของเธอนี่เองที่เป็นครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิตของเธอ โดยตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อมักจะให้เธอกับน้องสาวระบายสีเล่นลงผ้าใบ ส่วนงานปั้นนั้นคุณพ่อก็ให้ลองปั้นโดยเริ่มจากการปั้นของเล่นกับอาหารจิ๋ว จนเธออายุ 13 ปี คุณพ่อก็เริ่มสอนศิลปะให้แบบจริงจัง เริ่มตั้งแต่วาดลายเส้น เขียนแบบ เขียนลายไทย จากนั้นก็สอนการปั้น ซึ่งด้วยความที่เธอยังไม่มีพื้นฐานด้านกายวิภาคมนุษย์ คุณพ่อก็เลยให้เริ่มจากหัดวาดมือและปั้นมือของหุ่นไปก่อน จนเมื่อมีทักษะมากขึ้น คุณพ่อก็จึงให้เธอลองฝึกปั้นกะโหลกมนุษย์…

“น้องนิวเยียร์” กับ “ผลงานสำคัญ”

“รู้สึกว่างานปั้นเป็นเรื่องยาก และใช้เวลานาน ตอนนั้นเราก็เลยบอกคุณพ่อไปว่า เรายังไม่อยากเรียน อยากวาดรูปมากกว่า แต่คุณพ่อก็แนะนำให้ลองดูก่อน จนพอได้ปั้นมาเรื่อย ๆ ก็เกิดเป็นความชอบ ทำให้ตอนนี้กลายเป็นว่าชอบงานปั้นมากที่สุด แต่ในเรื่องงานวาดก็ไม่ได้ทิ้ง ยังคงฝึกฝนอยู่ตลอดเช่นกันค่ะ” น้องนิวเยียร์ กล่าว

สำหรับงานปั้น “พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9” นั้น น้องนิวเยียร์บอกว่า เป็นงานประติมากรรมชิ้นแรกที่เธอได้รับมอบหมายจากคุณพ่อให้ทำด้วยตัวเอง เพราะคุณพ่อเห็นว่าเธอมักชอบวาดรูปราชวงศ์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เนื่องจากเธอมีความทรงจำและความประทับใจสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะมีแรงบันดาลใจสำคัญจากพระราชกรณียกิจของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” จากการได้อ่านได้รับรู้ถึงการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์เพื่อทรงช่วยเหลือคนไทยตามพื้นที่ทุรกันดารต่าง ๆ รวมทั้งได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ ผ่านการ์ตูน “เบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์” ที่ยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันใจและประทับใจมาก

“ตอนที่คุณพ่อให้ปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 เราก็บอกเลยว่าทำได้ แต่พอเริ่มลงมือปั้น จึงรู้ว่าไม่ง่ายเลย จนเริ่มท้อ แต่คุณพ่อกับคุณแม่ก็คอยให้กำลังใจ จนเรารู้สึกดีขึ้น และกลับมามุ่งมั่นอีกครั้ง จนพอเห็นว่า…งานของตัวเองเริ่มคืบหน้า เริ่มมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จให้ได้” น้องนิวเยียร์กล่าว พร้อมกับเล่าว่า ปัญหาใหญ่ของเธอช่วงแรก ๆ คือความรู้สึกเบื่อที่จะต้องทำงานแทบทุกวัน วันหยุดก็ไม่ได้พัก เพราะต้องมาทำชิ้นงานต่อตั้งแต่บ่ายจนถึงช่วงมืดค่ำ หรือกลับจากโรงเรียนมา บางทีก็ต้องมานั่งทำงานต่อ ทำให้บางวันกว่าจะได้พักก็ต้องนั่งทำงานก่อน ยาวไปจนถึง 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม ทำให้ในช่วงที่เริ่มปั้นชิ้นงานนี้เธอจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ มากนัก

กับ “ครูหยุย” วันเข้ารับรางวัล

“เคยขอคุณพ่อคุณแม่ออกไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ทั้งสองท่านก็ไม่ให้ไป เพราะอยากให้เราโฟกัสกับงานที่ทำมากกว่า โดยคุณพ่อคุณแม่บอกว่าอยากให้เราทำให้สำเร็จ ซึ่งยอมรับว่าช่วงแรก ๆ ก็ไม่เข้าใจจึงมีทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่บ่อยมาก จนตอนหลังถึงเข้าใจ จึงหันกลับมาโฟกัสกับงานของเรามากขึ้น” น้องนิวเยียร์เผยไว้กับเรา

และอีกอุปสรรคที่เข้ามารบกวนจิตใจเธอก็คือ “แรงกดดัน-เสียงวิจารณ์” หลังจากที่มีคนรู้ว่าเธอกำลังปั้น “พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9” ซึ่งพอมีแรงกดดันเข้ามาเยอะ ๆ ก็ทำให้เริ่มไขว้เขว จนไม่อยากปั้นต่อ ทำให้ตอนนั้นเธอทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่แรงมาก เพราะไม่อยากปั้นต่อแล้ว แต่ท่านทั้ง 2 คนก็ทั้งดุ ทั้งให้กำลังใจ โดยบอกกับเธอว่าอย่าสนใจคำพูดคนอื่น

คุณพ่อช่วยให้คำแนะนำ

น้องนิวเยียร์ เล่าต่อว่า เธอเริ่มปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งแค่เฉพาะการปั้น “พระพักตร์” เธอก็ใช้เวลากว่า 1 ปี โดยเจ้าตัวบอกว่าเพราะต้องการให้งานออกมาดีที่สุด จึงใช้เวลานาน ซึ่งหลังจากปั้นพระพักตร์เสร็จ เธอก็เริ่มปั้นชุดฉลองพระองค์ จนมาปั้นสำเร็จตอนเธออายุ 14 ปี แต่เธอก็คิดว่ายังดูง่ายและเรียบเกินไป จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ โดยเลือกที่จะปั้นชุดที่ยากกว่าเดิม เป็นชุดที่มีรายละเอียดเยอะ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีจึงจะปั้นสำเร็จ …และผลงานของเธอก็ได้รับ “รางวัลเชิดชูเกียรติ ประติมากรอายุน้อยที่สุดในโลก” จากทางวุฒิสภา เมื่อปลายปี 2566

“รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ทำให้เราภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นงานชิ้นแรกที่ทำและได้รางวัลแรก จนทำให้มีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำผลงานชิ้นต่อไป ซึ่งตอนนี้กำลังปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องปั้นให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2567นี้” เป็นเสียงบอกเล่าความภาคภูมิใจ และเป็นอีกความมุ่งมั่นตั้งใจ ของ “สาวน้อยประติมากร” คนนี้

พร้อมกันนี้ น้องนิวเยียร์ยังเผยถึง “เคล็ดลับความสำเร็จ” ของเธอในการปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “ใช้การฟังเพลงในช่วงที่ปั้นงาน เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสมาธิ โดยเพลงที่เปิดฟังช่วงทำงานก็มีทุกแนว แต่พอมาได้ยินเพลงใกล้รุ่ง ที่เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็กลายเป็นเพลงที่เราชอบที่สุด และมักจะเปิดฟังบ่อย ๆ ในช่วงที่ปั้นงานพระบรมรูปของพระองค์ท่าน”

ทั้งนี้ น้องนิวเยียร์ ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังถึงอีกเรื่องราวงานปั้นที่ทำให้เธอรู้สึกดีใจมาก คือหลังจากที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ รู้ว่าเธอมีความสามารถในเรื่องของการปั้น ก็มีรุ่นพี่ที่โรงเรียนคนหนึ่งได้มาขอให้เธอช่วย ปั้นหุ่นจำลองคนที่มีลักษณะกระดูกสันหลังคด โดยรุ่นพี่คนนี้จะนำไป ใช้เป็นโมเดลจำลองเพื่อใส่เกราะแรงดัน สำหรับช่วยดึงหลังให้ตรง ซึ่งผลงานของรุ่นพี่คนนี้ถูกนำไปใช้เป็นพอร์ตฟอลิโอ เพื่อนำไปยื่นเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย และผลก็ออกมาว่าพอร์ตฟอลิโอผลงานนี้สามารถทำให้รุ่นพี่คนนี้ได้รับเลือกจากทางมหาวิทยาลัยให้เข้าเรียนได้เป็นผลสำเร็จ จึงทำให้เธอรู้สึกดีใจมากไปพร้อม ๆ กับรุ่นพี่คนนี้ด้วย ในฐานะที่ทักษะและผลงานของเธอมีส่วนเสริมในการสานฝันของรุ่นพี่คนนี้

สำหรับตัวเธอเอง… “น้องนิวเยียร์-อัญมณี กระจ่างช่วย” ที่ได้ฉายา “ประติมากรอายุน้อยที่สุดในโลก” เธอบอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า… “ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำงานปั้นเป็นอาชีพได้ แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องออกแบบด้วย เพราะคุณพ่อเคยสอนให้เรียนรู้เรื่องเปอร์สเปคทีฟ ซึ่งก็รู้สึกสนุกและชอบมาก จึงมองว่าอนาคตอาจลองดูด้านออกแบบ เพราะก็ถือเป็นอีกแขนงของงานศิลปะ ทำให้ตอนนี้เลยตั้งใจเอาไว้ว่า…อนาคตคงจะเลือกเรียนทางด้านสถาปัตย์ แต่กับงานวาดภาพ หรืองานปั้น ยังไงก็คงไม่ทิ้งแน่นอน ก็ตั้งใจจะทำงานศิลปะและงานปั้นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ…เพราะนิวเยียร์รักไปแล้ว”.

กับคุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาว

‘ความในใจ’ จาก ‘คุณพ่อถึงคุณลูก’

“เอก กระจ่างช่วย” คุณพ่อและครูศิลปะคนแรกในชีวิตของ “น้องนิวเยียร์” เผย “เทคนิคการสอนศิลปะ” ให้ลูกสาวว่า… จะสอนลูก ๆ โดยไม่ยัดเยียดเด็ดขาด แต่จะใช้วิธีสอนควบคู่ไปกับการให้ลูกลงมือปฏิบัติ โดยตั้งใจว่า…อยากให้ทักษะศิลปะติดตัวลูก ๆ เพราะเมื่อลูก ๆ เติบโตจะได้มีวิชาความรู้ใช้เป็นทางเลือกให้ชีวิต ซึ่งสำหรับผลงานของ น้องนิวเยียร์ นั้น คุณพ่อบอกว่า…รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ลูกพิสูจน์ตัวเองได้ โดยน้องนิวเยียร์เป็นเด็กที่มีแววศิลปะ ซึ่งผลงาน “พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9” นั้น ขอย้ำว่าไม่เคยเข้าไปช่วยลูกทำเลย จะมีแต่การให้คำแนะนำเป็นหลักเท่านั้น… “แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กวัย 13 ปี ในตอนที่เริ่มทำ แต่เราก็สอนให้ลูกโฟกัสเรื่องของเป้าหมายในชีวิตเป็นสำคัญ เพราะผมเชื่อว่า…หากมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน เด็ก ๆ ก็จะมีจุดโฟกัสเพื่อขับเคลื่อนตัวเองไปให้ถึงจุดหมายที่เขาได้ตั้งเป้าเอาไว้ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะทำงานศิลปะเป็นอาชีพแบบเรานะ เพราะสุดท้าย…ชีวิตเขา…เขาก็ต้องเลือกทางของตัวเอง”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน