2 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันไม่ใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence)” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของ “มหาตมะ คานธี” ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพชาวอินเดีย ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักการไม่ใช้ความรุนแรง (หลักสันติอหิงสา) ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสังคมที่มีความสันติสุข มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้ง

ซึ่งก่อนหน้าที่สหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศและเอกชนร่วมกันรำลึกถึงวันที่ 2 ตุลาคม โดยทายาทของนายคานธี แสดงความยินดีต่อการประกาศดังกล่าว แต่ก็ระบุว่า ไม่ควรใช้วันดังกล่าวเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ และว่าความขัดแย้งควรจะได้ข้อยุติ และควรจะสร้างสรรค์โลกโดยไม่ใช้ความรุนแรง

และในที่สุดวันที่ 16 มิ.ย. 2550 ทางองค์การสหประชาชาติก็ได้ออกแถลงการณ์ประกาศให้วันคล้ายวันเกิด มหาตมะ คานธี เป็นวันแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงสากลในที่สุด

ประวัติของ”มหาตมะ คานธี”

โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี หรือที่รู้จักกันในนาม มหาตมะ คานธี (จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่) เป็นผู้นำคนสำคัญของอินเดียในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยตนออกจากการเป็นอาณานิคม คานธี เกิดที่จังหวัดโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ในวรรณะแพศย์ (พ่อค้า) พ่อเป็นข้าราชการ มารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา คานธีแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ตามธรรมเนียมของชาวฮินดูในสมัยนั้น

คานธีเรียนจบทางด้านกฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ และได้เริ่มกิจกรรมการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอย่างสันติเป็นครั้งแรกของชาวอินเดียใน ประเทศเเอฟริกาใต้ และส่งเสริมให้ชาวนาผู้ยากจนและแรงงานเรียกร้องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติ เขาเริ่มเล่นการเมืองหลังจากเดินทางกลับประเทศ ได้เป็นผู้นำของพรรคคองเกรส และได้ ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกกดขี่ สร้างความปรองดอง ในความหลากหลายของศาสนาและชาติพันธุ์ ดำรงชีวิตแบบพอเพียงและต้องการหยุดการเอาเปรียบทางชนชั้นวรรณะของประเทศอินเดีย

ค.ศ.1930 คานธีเป็นผู้นำชาวอินเดียเดินขบวนต่อต้านการเก็บภาษีเกลือของเจ้าอาณานิคมอังกฤษบนระยะทาง 400 กิโลเมตร และในอีก 12 ปีต่อมาเขาก็ได้เป็นผู้นำชาวอินเดียต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษด้วย วิธีอหิงสา-การต่อสู้เรียกร้องโดยไม่ใช้กำลัง กระทั่งประสบความสำเร็จ ในช่วงปลายปีของ ค.ศ. 1947

ค.ศ. 1948 หลังจากการประกาศเอกราชได้ 6 เดือน ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ นาถูราม โคทเส ยิงคานธี ที่หน้าอกสามนัด ในระยะเผาขนด้วยปืนพกกึ่งอัตโนมัติ คานธีเสียชีวิตเกือบจะในทันที หลังจากยิงไปแล้ว โคทเสมิได้พยายามหลบหนีหรือขู่คนอื่นอีก เขาถูกโจมตีและตรึงติดกับพื้นโดยฝูงชนรอบตัวเขา ศาลสูงรัฐปัญจาบพิพากษาประหารชีวิต โคทเส พร้อมกับผู้สมคบคิดอีกคนหนึ่ง ด้วยการแขวนคอที่เรือนจำอัมบาลา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949

คานธี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในหลายๆ แง่มุม ยกตัวอย่าง เช่น Martin Luther King นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวผิวดำในสหรัฐอเมริกา ที่ได้นำเอาวิธีต่อต้านอย่างสันติของท่านมหาตมะ คานธี มาปรับใช้ และคำแนะนำเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจของท่านมหาตมะ คานธี ก็ได้กล่าวถึงการพึ่งพาระบบทุนนิยมที่มากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว ความเรียบง่าย ความมีอารมณ์ขัน ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และ ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง นั้นสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณภาพประกอบจาก มหาตมะ คานธี มหาบุรุษของโลก