แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
เครื่องมือประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานของประเทศไทย พัฒนามาจากผลการวิจัยติดตามระยะยาวของกลุ่มตัวอย่างการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีการศึกษาในคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานเมื่อเริ่มการสำรวจจำนวน 13,893 คน และมีการติดตามการเกิดโรคเบาหวานเป็นเวลา 10 ปี จากการวิเคราะห์ผลการวิจัยนี้ สามารถสร้างแบบประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โดยใช้ประวัติของการมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสามารถให้คะแนนความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคเบาหวานในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคะแนนรวมที่สูงขึ้น แปลว่ามีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยมีสองแบบประเมิน คือ แบบที่ 1 ไม่ใช้ผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose, FPG) แบบที่ 2 ใช้ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือสูง แต่ยังไม่เป็นเบาหวาน) ซึ่งแบบประเมินนี้อาจประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์ หรือประเมินด้วยตนเองก็ได้ แบบประเมินความเสี่ยงนี้ได้มาจากการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างของประชากรไทย ดังนั้นจึงค่อนข้างแน่ใจว่าสามารถนำมาใช้กับคนไทยได้
ประโยชน์ของการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคบาหวานโดยใช้แบบสอบถาม มีดังนี้
• สามารถระบุกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง เพื่อที่จะได้ให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค
• สามารถวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยหากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง อาจต้องมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและเริ่มการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ตัวอย่างการประเมินคะแนนความเสี่ยงโรคเบาหวาน
นายสมชาย อายุ 45 ปี (2 คะแนน) น้ำหนัก 95 กก. สูง 170 ซม. ดัชนีมวลกาย = 32.9 กก./ตร.ม. (3 คะแนน) รอบเอว 105 ซม. รอบเอวต่อความสูง =0.62 (5 คะแนน) ประวัติโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ขณะนี้รักษากินยาสม่ำเสมอ ความดันโลหิต 130/85 มม.ปรอท ( 2 คะแนน) ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว (0 คะแนน) รวมคะแนน เท่ากับ (2+3+ 5+2+0) =12 คะแนน
จากคะแนนประเมิน นายสมชายมีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางเสี่ยงสูง มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้ประมาณร้อยละ 10 ข้อแนะนำสำหรับนายสมชาย ควรลดน้ำหนัก และรอบเอวโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าสามารถลดได้ คะแนนความเสี่ยงจะลด ถ้ารอบเอวสามารถลดน้อยกว่า 90 ซม. (รอบเอวต่อความสูง = 0.53 คะแนนรอบเอวเท่ากับ 2 คะแนน) และถ้าน้ำหนักตัวลดลงเหลือ 85 กก. ให้ดัชนีมวลกายเหลือประมาณ 25.9 (คะแนนดัชนีมวลกายเท่ากับ 1 คะแนน) ความเสี่ยงจะลดลงอย่างน้อย 4 คะแนน และความเสี่ยงลดลงเป็น 8 ซึ่งอยู่ในระดับเกณฑ์ความเสี่ยงลดน้อยลง
ข้อแนะนำและแนวทางดูแลสุขภาพในระดับความเสี่ยงต่างๆ
• ระดับความเสี่ยงน้อย จนถึงต่ำกว่าปานกลาง : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานต่ำ ไม่จำเป็นต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
• ระดับความเสี่ยงปานกลาง : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานปานกลาง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุก 1-3 ปี
• ระดับความเสี่ยงสูงและสูงมาก : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี
สรุป โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยมาก คนที่ไม่เป็นเบาหวานในขณะนี้ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในอนาคต เพื่อให้ตระหนักว่าตนเองมีความเสี่ยงระดับใด น้ำหนักเกินหรืออ้วน เป็นความดันโลหิตสูง และ/หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัวหรือไม่ และคำนวณว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การวางเป้าหมายและปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยง โดยการมีกินอาหารอย่างเหมาะสม และการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อการรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานในอนาคต
ตาราง แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานใน 10 ปี ข้างหน้า
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 | คะแนนความเสี่ยง | |||
ไม่มี FPG | มี FPG | คะแนน | ||
อายุ (ปี) | 35-44 | 1 | 1 | |
45-49 | 2 | 2 | ||
50-59 | 3 | 3 | ||
มากกว่าหรือเท่ากับ 60 | 4 | 4 | ||
ดัชนีมวลกาย* (กก./ตรม.) | น้อยกว่า 23 | 0 | 0 | |
23-27.5 | 1 | 1 | ||
>=27.5 | 3 | 3 | ||
รอบเอวต่อความสูง | < 0.5 | 0 | 0 | |
> 0.5 – < 0.6 | 3 | 3 | ||
>0.6 | 5 | 5 | ||
ความดันโลหิตสูง (มม. ปรอท) | ไม่มี (ความดันโลหิต <120/80 มม.ปรอท ) | 0 | 0 | |
ความดันโลหิต 120-139/90 มม.ปรอท หรือเป็นความดันโลหิตสูงแต่ควบคุมได้ <140/90 มม.ปรอท | 2 | 2 | ||
เป็น ( ความดันโลหิต >140/90 มม.ปรอท) | 4 | 4 | ||
ประวัติเบาหวานในญาติสายตรง (พ่อ/แม่/พี่/น้อง) | ไม่มี | 0 | 0 | |
มี | 2 | 2 | ||
น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร(Fasting Plasma Glucose, FPG) | <100 มก./ดล. | – | 0 | |
100 -125 มก./ดล. | – | 5 | ||
คะแนนรวม | ||||
ระดับความเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน ใน 10 ปีข้างหน้า | ||||
น้อย (ร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า) | < 6 | < 7 | ||
น้อย ค่อนไปทางปานกลาง (ร้อยละ 6-10) | 7 – 9 | 8-10 | ||
ปานกลาง ค่อนไปทางสูง (ร้อยละ 11-20) | 10 – 12 | 11-14 | ||
สูง (ร้อยละ 21-30) | 13 -14 | 15-16 | ||
สูงมากๆ (ร้อยละ 30 หรือมากกว่า) | > 15 | > 17 |
* วิธีการคำนวณดัชนีมวลกาย ใช้น้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วย (ส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง)
ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์