หากพ่อแม่ผู้ปกครองรู้ว่าลูกหลานของท่านเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในเด็กจำนวนมากที่กำลังตกเป็นเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า พ่อแม่ควรดูแลลูก ดังนี้

1.เข้าใจลูกว่าทำไมเขาจึงไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า และแก้ไขเหตุปัจจัยในส่วนที่พ่อแม่สามารถควบคุมได้ก่อน

สาเหตุที่ทำให้เด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาจากเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ตั้งแต่ตัวเด็กเองที่ยังไม่ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และอาจถูกชักจูงให้เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย หรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ

ทางด้านจิตใจเด็กอาจจะมีความเครียด ไม่มีความสุข หรือมีความทุกข์ในเรื่องต่างๆ พ่อแม่อาจสงสัยว่าเด็กจะเครียดอะไรกัน เป็นเด็กไม่เห็นจะมีเรื่องต้องเครียดอะไร แต่ความจริงเด็กในสังคมปัจจุบันมีเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้มากทีเดียว ตั้งแต่ความเครียดจากการเรียนที่หลายโรงเรียนเน้นวิชาการจนมีการสอนเนื้อหาที่ยากเกินควร มีการแข่งขันสูง จากความคาดหวังของพ่อแม่ จากความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อน การกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน เป็นต้น เด็กที่มีความเครียดที่มากเกินควรมีโอกาสที่จะไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าออกฤทธิ์ลดความเครียดได้

เด็กที่ขาดความมั่นใจในความมีคุณค่าในตนเอง อาจจะเกิดจากการถูกดุว่าถูกตำหนิบ่อยๆ ขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพหรือความสามารถของตน ยังไม่เคยทำอะไรสำเร็จในสายตาของพ่อแม่หรือผู้อื่น จะเป็นเด็กที่มีความสุขได้ยาก มีความทุกข์ความเครียดได้ง่าย จึงมีโอกาสที่จะหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เด็กที่ขาดความรู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเอง มักโหยหาการยอมรับจากผู้อื่น และกลัวการถูกปฏิเสธ จึงไม่กล้าที่จะปฏิเสธหากมีเพื่อนชักชวนให้ลองสูบบุหรี่ เพราะกลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับตนเอง

เด็กที่มีภาวะซึมเศร้า หรืออาจจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดได้ง่าย เพราะนิโคตินออกฤทธิ์ให้รู้สึกมีความสุขได้ ในปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมาก กล่าวคือจนถึงอายุ 18 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของเด็กและวัยรุ่นเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผลการสำรวจในประเทศไทยพบว่า วัยรุ่นที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมีร้อยละ 1.1 ในปี พ.ศ. 2559 และได้เพิ่มเป็นร้อยละ 6.4 ในปี พ.ศ. 2563

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 5-8 ของเด็กวัยเรียน มีความเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดได้ง่าย เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ โดยเฉพาะด้านการเรียน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม มักจะถูกดุว่าและถูกตำหนิบ่อยๆ ทำให้ขาดความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง และมักจะถูกผลักเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ไม่ตั้งใจเรียนและมีพฤติกรรมเกเรได้ง่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่มักมีการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าและใช้ยาเสพติดอย่างอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าด้วยที่จงใจทำการตลาดในเด็กและวัยรุ่น เพราะพวกเขาทราบดีว่าเด็กและวัยรุ่นจะติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มาก และยิ่งเมื่อติดตั้งแต่อายุน้อยแล้วจะยิ่งเลิกสูบได้ได้ยาก ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำการตลาดที่เน้นให้เด็กและวัยรุ่นเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่างรวดเร็ว โดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทันได้ตั้งตัว และยังไม่ได้รู้เท่าทันเลยว่าเด็กสามารถซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่รอบๆ โรงเรียนได้โดยง่าย แม้แต่ในโรงเรียน หรือการสั่งซื้อออนไลน์ ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าตั้งใจทำการตลาดให้เด็กรู้สึกว่าใครๆ ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้ากัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ในขณะที่เด็กก็ยังไม่มีวุฒิภาวะเท่าทันที่จะเข้าใจถึงอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง

ดังนั้นจึงไม่ใช่ความผิดของลูก หรือของพ่อแม่ แต่เพียงฝ่ายเดียว จึงต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของลูก หรือความผิดของพ่อแม่ หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมได้ และควรเริ่มแก้ไขปัญหาตรงสาเหตุที่พ่อแม่สามารถแก้ไขได้ก่อน

2. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ด้วยการสื่อสารเชิงบวก

เวลาที่ลูกมีปัญหาทางพฤติกรรมใดๆ ก็ตามแล้ว พ่อแม่มักเผลอปฏิบัติตัวในทางที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นรุนแรงมากขึ้น ด้วยการดุว่า ตำหนิ หรือลงโทษรุนแรง ที่พ่อแม่คาดว่าจะทำให้ลูกหลาบจำ แต่ความจริงคือ การจะแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูกนั้นจะต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่เป็นพื้นฐาน

พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากการตั้งสติและพยายามเข้าใจลูกว่า เพราะอะไรจึงต้องไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ต้องไปคาดคั้นคำตอบจากลูกว่าทำไมจึงต้องสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมักจะได้คำตอบที่ไม่ตรงความจริง หลีกเลี่ยงการดุว่าหรือลงโทษรุนแรง หรือไปคาดคั้นให้ลูกยอมรับโดยที่พ่อแม่ก็ทราบแล้วว่าลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมักจะทำให้ลูกรู้สึกทางลบและต้องสูบบุหรี่มากขึ้นอีกเพื่อลดอารมณ์ด้านลบของตนเอง

หากพ่อแม่ทราบความจริงแล้วว่า ลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้า พ่อแม่ควรบอกกับลูกตามตรง และพูดได้ตามตรงว่า พ่อแม่ต้องการให้ลูกเลิกสูบ พ่อแม่ควรสื่อสารด้วยความห่วงใยว่าพ่อแม่ต้องการให้เลิกสูบบุหรี่ เพราะไม่อยากให้ลูกเจ็บป่วยไม่สบายในอนาคต ลูกมักปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า หากลูกรับรู้ถึงความรักความห่วงใยของพ่อแม่ แทนที่จะเป็นการตำหนิหรือลงโทษด้วยอารมณ์โกรธ

Person's hand broking cigarette with scissor over blue background

3. พ่อแม่ต้องเป็นกำลังใจในการเลิกสูบบุหรี่ และสร้างความรู้สึกมีคุณค่าใจตนเองของลูก  พ่อแม่ต้องเข้าใจว่านิโคตินมีฤทธิ์เสพติดที่รุนแรง การเลิกบุหรี่มักทำได้ยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากขาดความมุ่งมั่นและกำลังใจที่มากพอ พ่อแม่ต้องให้แรงเสริมทางบวก เช่น คำชมเชย หรือรางวัลต่างๆ ตามสมควร เมื่อลูกมีความพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ หรือเริ่มเลิกสูบบุหรี่ได้ พยายามหลีกเลี่ยงการจับผิดว่าลูกยังสูบบุหรี่อยู่หรือไม่และคอยตำหนิในเรื่องต่างๆ

รวมทั้งพ่อแม่ต้องพยายามค้นหาและเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถต่างๆ ของตนเอง ให้ลูกรู้สึกว่าลูกก็เป็นคนที่มีความสามารถ ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่และคนอื่นๆ ได้รับคำชื่นชมเมื่อทำอะไรได้สำเร็จ เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจใจคุณค่าของตนเอง (self-esteem) ซึ่งความมั่นใจในคุณค่าของตนเองนี่เองที่เป็นปัจจัยที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสพติดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

หากพ่อแม่จัดการด้วยตนเองเบื้องต้นแล้ว ลูกยังไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ พ่อแม่ควรหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น การแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ปัญหาลุกลามแล้วมาก พ่อแม่ยังสามารถขอคำปรึกษาได้ทางสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ได้ด้วย

ข้อมูลจาก รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่