รู้หรือไม่… ทุกวันที่ 30 มีนาคมของทุกปีคือ “วันไบโพลาร์โลก World bipolar day” ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับโรคไบโพลาร์
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อพูดถึงโรคนี้ หลายๆคน อาจจะเคยได้ยินชื่อของ “โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว” ที่ผู้ป่วยจะมีอาการอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวหงุดหงิด ซึ่งอันที่จริงแล้ว “ไบโพลาร์” ก็ถือได้ว่าเป็นโรคที่ตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างไม่ควรมองข้าม เพราะหากอาการมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเสี่ยงฆ่าตัวตายได้
โดย แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental health Hospital ได้เผยผ่าน Healthy Clean ว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ จากการศึกษาปัจจุบันพบว่า โรคนี้เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม เช่น หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้น, ปัจจัยด้านชีวภาพ เกิดจากสารสื่อประสาทและการทำงานของสมองบางส่วนผิดปกติไป และสุดท้ายคือด้านพฤติกรรม สภาพจิตใจ และสังคม เช่น การอดนอน การใช้สารเสพติด การเผชิญความเครียดและกดดันสูง หรือคุณแม่หลังคลอดที่มีความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน
โรคไบโพลาร์เป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว โดยจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสลับกันไปในแต่ละช่วง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
1.ระยะแมเนีย (Manic episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบพูดชอบคุย นอนน้อยกว่าปกติ บางคนนอนแค่วันละ 1 – 2 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการอ่อนเพลียตามมา และบางคนอาจมีอาการหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ
2.ระยะซึมเศร้า (Depressive episode) ผู้ป่วยจะมีอาการตรงกันข้ามกับระยะแมเนีย และมีอาการคล้ายกับโรคซึมเศร้า คือมีอาการเซื่องซึม เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิดตัดสินใจ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่มีเรี่ยวแรง เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หมดหวังกับชีวิต มองโลกในแง่ร้าย คิดวนเวียน หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแมเนีย มักจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ และมองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดี มีความขยันก็เท่านั้น คนอื่น ๆ จึงจะสังเกตได้ยากโดยเฉพาะในช่วงระยะแรก ๆ ที่อาการยังไม่มาก แต่หากสังเกตจริง ๆ จะพอมองออกได้ว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของผู้ป่วย เพราะอารมณ์ต่าง ๆ จะแสดงออกมากว่าปกติไปมาก ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะพอบอกได้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม และคนใกล้ชิดจะสังเกจได้ไม่ยากเท่าระยะแมเนีย เพราะผู้ป่วยจะซึมลง ดูทุกข์และเศร้า
การรักษาโรคไบโพลาร์ หลัก ๆ คือการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้รักษา ได้แก่ กลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต และยาต้านเศร้า ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ การรักษาอาจใช้ยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด ปรับพฤติกรรม หรือการรักษาด้วยไฟฟ้าในกรณีที่มีอาการรุนแรง และต้องการผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
เป้าหมายของการรักษาโรคไบโพลาร์ คือการที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานเป็นคนเดิม และใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่การรักษาอาจไม่หายขาด วันดีคืนดีอาจกลับมามีอาการอีก โดยเฉพาะในรายที่มีอาการป่วยมาหลายครั้งหรือค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก
ทั้งนี้ แพทย์หญิงอริยาภรณ์แนะนำว่า การดูแลตัวเองเบื้องต้นให้ห่างไกลจากโรคไบโพลาร์ สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การใช้สารเสพติด หรือยาที่ซื้อมารับประทานเองบางประเภท เช่น ยาลดความอ้วน ยาสมุนไพ หากพบว่าตนเองเผชิญกับความเครียด ความกดดันอย่างมากจนรู้สึกว่าไม่สามารถทนกับสถานการณ์เดิมได้ ควรเริ่มจัดการกับปัญหา มองหาตัวช่วย หรือหากปัญหานั้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ ควรเน้นทำกิจกรรมที่ช่วยให้ความเครียดลดลงก่อน และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคไบโพลาร์ หรือมีความเครียดสูง สามารถรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้..
………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”