นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากสถิติพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย ที่น่าเป็นห่วงคือ มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 16,000 คนต่อปี เป็นเพศชายและหญิงราว 8,658 และ 7,281 คน ตามลำดับ และมีผู้เสียชีวิต 5,332 คนต่อปี สาเหตุของโรคส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น การรับประทานอาหารในกลุ่มเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปหรือที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่มีไขมันสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนักคือการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการป้องกันโรคอย่างถูกต้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงรู้จักสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง เช่น การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้ผลักดันนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงระดับชาติให้แก่ประชาชนไทยอายุ 50-70 ปีขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งหญิงและชาย เพราะการตรวจคัดกรองจะทำให้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ทำให้ตรวจพบตั้งแต่ระยะที่จะเริ่มกลายเป็นมะเร็งหรือเป็นมะเร็งระยะแรก ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการตัดติ่งเนื้อที่ผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งหรือการผ่าตัดลำไส้โดยไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี โดยประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีพบผลผิดปกติจะได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อวินิจฉัยต่อไป โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า หลายคนมักจะกลัวการส่องกล้องลำไส้เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเพราะกลัวเจ็บหรืออึดอัดขณะส่องกล้อง แต่ปัจจุบันกล้องที่ใช้ส่องมีความยืดหยุ่นสูงจึงทำให้ขณะส่องไม่รู้สึกอึกอัด นอกจากนี้ในคนที่มีความกังวลสูงแพทย์สามารถให้ยานอนหลับขณะส่องกล้องได้ เพื่อให้ผู้ป่วยลดความกังวลและความรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งปัจจุบันการส่องกล้องลำไส้สามารถทำได้ในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขในทุกจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ
ข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์