มีผู้มีแนวคิดอยู่ว่า การใช้เรือนร่างของผู้ชายในการจินตนาการหรือซีรีย์วาย คือ “แฟนตาซีทางเพศของผู้หญิง” เนื่องจากความกดดัน ความคาดหวังทางสังคมต่อภาพของความเป็น “ผู้หญิงดี” ก็ยังเป็นแนวคิดที่ทำหน้าที่อยู่อย่างเข้มแข็ง ทำให้นักเขียนวายที่เป็นผู้หญิง หรือผู้อ่านหญิง เลือกจินตนาการตัวเองเป็น“นายเอก” ซึ่งถ้าพูดด้วยเพศวิถีก็ไม่รู้ว่าจะนิยามอย่างไร ( ง่ายๆ มันพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นรุกหรือรับ ) แต่มีลักษณะที่งานเขียนนิยายวายชุ่ยๆ จะใช้บรรยายตัวละครนายเอกว่า “ร่างบาง” ส่วนพระเอกจะเป็น “ร่างหนา” ไม่ค่อยหลากคำกันเท่าไร
คือในสังคมเอเชีย ยังมีการกดทับเรื่องจินตนาการทางเพศของผู้หญิงอยู่มากพอสมควร ถ้าลองไปดูนิยายวายที่แปลจีนบางเรื่องเราจะพบรสนิยมทางเพศแบบแปลกๆ เช่น แบบเป็นนายเป็นทาส อะไรพวกนี้ด้วย ..สิ่งที่ทำให้เชื่อว่า “ผู้หญิงเอาตัวเองเข้าไปแทนนายเอก” คือ นิยายวายบางเรื่องมีลักษณะเป็น “โอเมกาเวิร์ส” แบบมีระบบเพศใหม่ มีรูปลักษณ์เป็นชายแต่มีอัลฟ่า แนวๆ ตัวรุก และโอเมก้า แนวๆ ตัวรับที่ท้องได้ ..แล้วก็มีพวกเบต้า คือพวกมีเพศแบบโลกปกติ ..ผู้อ่านบางคนอาจจินตนาการตัวเองเป็นโอเมก้า อะไรเทือกๆ นี้ ..คือจินตนาการทางเพศ หรือรสนิยมเป็นเรื่องที่ไปคิดแทนคนอื่นไม่ได้ …มากที่สุดคือบอกได้ว่า “มันมีอะไรแบบนี้ด้วย”
เอาจริง นิยายที่“ปลดแอก”เรื่องการเปิดเผยแฟนตาซีทางเพศของผู้หญิงคือชุด Fifty shades of Grey ที่เขียนมาสามเล่มหนาๆ และตามมาอีกสองเล่มหนาๆ เพราะสามเล่มมันขายดีจนเรียกว่า ..เป็นปรากฏการณ์.. ทั้งๆ ที่ลองอ่านทั้งไทยทั้งอังกฤษดูแล้วมันก็เฉยๆ แต่คนที่เขาชอบก็บอกว่า มันเป็นพลอตในฝันของผู้หญิงเป็นเบื้องต้น คือ “ซินเดอเรลล่าพลอต” แบบว่ามีผู้ชายหล่อ รวย มาดเนี๊ยบ มาชอบผู้หญิงที่สวยแต่อยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่า นี่เป็นเบื้องต้น..และต่อมา คือ มีการพูดถึงรสนิยมบางอย่างที่ผู้หญิง ( หรือกระทั่งผู้ชาย ) ไม่กล้าสื่อสารออกมาตรงๆ คือเรื่องการเล่นซาดิสม์ มาโซคิสม์ ..ลึกๆ อาจเป็นความชอบของหลายคนที่การกระทำหรือถูกกระทำมันกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้เพริดได้มากขึ้น .. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ Fifty shades of Grey จะดัง ก็มีหนังแนวเดียวกันเป๊ะ คือ 9 ½ weeks พล็อตเหมือนกัน ปั้น คิม บาซิงเจอร์ และมิกกี้ รูกจ์ เป็นเซกส์ซิมโบลดังได้ ..หนังเรื่องนี้จะออกเป็นจินตนาการเรื่องนายกับทาสเสียมากกว่า และฉายในช่วงที่สื่อติดเรทถูกปิดกั้นมากกว่า
ที่กล่าวมาข้างต้น คือจินตนาการในภาคที่ผู้หญิงเอาตัวเองเข้าไปแทนที่ผู้ชาย และความเปิดกว้างในการนำเสนอจินตนาการทางเพศของผู้หญิงมากขึ้น เพราะความเสรีและความหลากหลายของสื่อ คุณจะปิดกั้นได้อย่างไรในเมื่อของโป๊หาเอาตามอินเทอร์เนตได้ง่ายดายมาก ในโลกยุคใหม่ ความเท่าเทียมทางเพศมีมากขึ้น สิ่งที่แสดงออกอย่างหนึ่งคือ “แม้แต่เพศชายที่เป็นเพศที่มีอำนาจ ก็ถูกทำเป็นวัตถุทางเพศได้”
ถ้าใครดูละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอนคุณชายพุฒิภัทร ก็คงจะรู้ว่า เป็นการเอาเรื่อง“จอมพลผ้าขาวม้าแดง” มาดัดแปลง ซึ่งเมียน้อยจอมพลคนดังมีกี่คนก็ไม่รู้ ฉากในเรื่องคือตัวนางเอกกรองแก้วเข้าประกวดนางงาม เมื่อก่อน การประกวดนางงามไม่ใช่ประเภทโชว์ความเป็นหญิงสามารถ ตอบคำถามยากยังกะธีสิสปริญญาโทขนาดนี้ แต่เอาสวย หุ่นดี ซึ่งว่ากันว่า เป็นที่ๆ คนใหญ่คนโตเขาไป“ชอปปิ้ง” คนสวยกัน นั่นคือนางงามถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ.. เวทีนางงามก็มีหลายเวที แต่เวทีใหญ่ๆ ก็พยายามสลัดภาพนั้นและเพิ่มคุณค่าความเป็นผู้หญิงผ่านการแสดงความคิด ความเห็น หรือการรณรงค์ทางสังคม อย่างปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของนางงามอุดมคติ คือ รักเด็ก ทำโครงการทางสังคมเกี่ยวกับเด็ก และทำจนกลายเป็นภาพจำ ในขณะที่นางงามหลายคน หลายเวที..แม้กระทั่งในยุคนี้ก็ตาม ผู้เข้าประกวดพยายามจะสร้างภาพจำในด้านดี แต่ภาพจำนั้นมันก็มีอายุแค่ราวช่วงปีที่เจ้าตัวดำรงตำแหน่ง ไม่ค่อยถูกพูดในระยะยาวนัก
มีเวทีนางงามหญิงแล้ว ก็มีเวทีเวทีผู้ชายหล่อกันบ้าง ซึ่งช่วงแรกๆ ในประเทศไทย เวทีหนุ่มหล่อที่ขึ้นชื่อที่สุดคือเวทีโดม่อนแมน ผลประโยชน์คือทางลัดเข้าวงการบันเทิง ขณะเดียวกัน “มิติความเป็นวัตถุทางเพศ” ก็มี สมัยนั้นก็มีข่าวลือเรื่องเด็กผ่านเวทีโดม่อนแมนคนไหนเป็น“เด็กใคร” ในความหมายไม่ใช่เป็นสปอนเซอร์ส่งเด็กประกวดเพื่อให้เด็กออกมาเป็นดาราแล้ว คนสนับสนุนเป็นโมเดลลิ่ง แต่ความหมายเดียวกับที่เขามองภาพนางงามเมื่อก่อนนั่นแหละ
เวทีประกวดผู้หญิงนี่ก็ยังมีไปเรื่อยๆ แต่เวทีประกวดผู้ชายมันมีความลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นอยู่กับ “รสนิยม”ของสังคมต่อภาพของดาราแต่ละยุค เช่น ในช่วงราวๆ ปี พ.ศ. 35-45 นี่ เวทีผู้ชายมีจัดบ้างในประเทศไทยแต่น้อย เพราะกระแสนิยมขณะนั้นคือนิยมดาราชายทรงวัยรุ่น ผมออกยาวหน่อย หน้าหวานๆ หุ่นบางๆ ซึ่งไม่ใช่ขนบการประกวดผู้ชายแบบต่างประเทศ..การเข้าวงการของดาราชายไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผ่านเวทีประกวด แต่ขึ้นอยู่กับว่า ไปเตะตาแมวมองเข้าหรือไม่ ซึ่งยุคนั้นจะอารมณ์แบบว่า ใครที่ “พชร์ อานนท์” ปั้นนี่คือเป็นที่จับตามาก เป็นที่กรี๊ดกร๊าดมาก ( มายุคนี้ก็คงเป็นเอ ศุภชัย ) ขณะที่ในช่วงเดียวกัน นางสาวไทย มิสไทยแลนด์เวิลด์หลายคน ประกวดเสร็จก็ไปเป็นดารา เล่นละครทีวี
แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่มีเลย..มีบ้างที่เป็นเวทีอินเตอร์ เคยมีมาจัดประกวด manhunt ที่สกาล่าหลายปีก่อน แต่ประกวดไปก็เงียบ คือมันไม่เห็นภาพการต่อยอดชัดๆ .. มาช่วง..น่าจะเรียกว่า ไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา การประกวดอะไรต่อมิอะไรเฟื่องฟูมาก เวทีผู้ชายก็มีเวทีแกรนด์สแลม คือเคลมว่า เป็นเวทีอินเตอร์ที่เป็นเวทีใหญ่ อย่างเช่น manhunt ที่อยู่มานาน Mr International , Mr Global , Mr Supranational แล้วก็เวทีอื่นๆ อย่าง Mr Tourist หรือบางเวทีก็เป็นเวทีเฉพาะในประเทศ คือประกวดเสร็จก็ไม่ได้ส่งต่อ แต่อาจเอาไปใช้ในบางภารกิจ เพิ่งเห็นเวทีบุตรธิดาตลาดยิ่งเจริญ คงประกวดเพื่อหาผู้ชนะมาเป็นพรีเซนเตอร์ตลาด แล้วก็มีมิสเตอร์อื่นๆ อีกหลายเวทีแบบว่าจำกันไม่หวาดไม่ไหว เพราะบางเวทีไม่ได้จะจัดทุกปี แต่จัดในปีที่หาสปอนเซอร์ได้
ภาพผู้เข้าประกวดที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ คือ “รูปลักษณ์ของผู้ชายอุดมคติ” เอาที่เขาชอบเปรียบเทียบกันคือ แบบที่คนไทยชอบจะเป็นลักษณะ“หน้าดิสนี่ย์ หุ่นมาเวลล์” คือหน้าตาแบบดูเด็กๆ ขาวๆ ใสๆ แต่หุ่นเพาะบ่มมาจนล่ำ .. ในวงการบันเทิงก็ชอบ ก็สังเกตดูลักษณะดาราเกาหลีเดี๋ยวนี้คือ หุ่นดีเยอะมาก จีนก็เหมือนกัน แล้วก็มีฉากต้องถอดเสื้อให้เอามาแชร์ให้ดูกันฉ่ำในอินเทอร์เนต ..ซึ่งเข้าใจว่า สาเหตุที่เกาหลีสร้างภาพ “หนุ่มในอุดมคติ”แบบนั้นคือการพยายามให้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของเขา เอาดาราเกาหลีหุ่นดีๆ ไปเล่นหนังต่างประเทศยืนประกบฝรั่งได้ไม่อาย ..ส่วนญี่ปุ่นนั้นดูไม่ค่อยสนใจตลาดต่างประเทศนัก เพราะตลาดบันเทิงในประเทศเขาก็ใหญ่ รสนิยมดาราดังๆ ก็ไม่ต้องหล่อจัด สวยจัด ทำให้ดาราญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปร่างหรือการทำศัลยกรรมมากนัก
เวทีผู้ชาย ไม่ได้พยายามทำตัวเป็น “เวทีหนุ่มสามารถ”เหมือนผู้หญิง คือไม่ได้เอาเป็นเอาตายกับเรื่องการทำแคมเปญหรือการตอบคำถามเวทีมากนัก เน้นรูปลักษณ์ การนำเสนอตัวเองบนเวทีดูแล้ว “แมนๆ ดี” การเก็บภาพของสื่อ ( ที่ส่วนใหญ่เป็นเพจเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ) คือจะเน้นรูปแนวถอดเสื้อ นุ่งน้อยห่มน้อย ซึ่งรูปลักษณะนั้นจะเรียกไลค์ เรียกยอดโหวตปอบปูลาร์โหวตได้มากกว่า และเราจะเห็นทั้งหญิงแท้ ทั้งเกย์ ก็ไปโพสต์อะไรแนวๆ “น่าเลียให้ล้ม” , “เห็นแล้วน้ำเดิน” อะไรพวกนี้ ซึ่งเขามองว่าเป็นการคุกคามทางเพศหรือเปล่า ? มันก็แล้วแต่คน แต่ในฐานะผู้เข้าประกวดชายนี่คือถ้าไปตำหนิความเห็นอะไรแนวนี้เห็นจะไม่ได้เกิด ด้วยเหตุว่า ก็แค่พูดจาเล่นหัว มี dirty joke บ้างทำเป็นรับไม่ได้ เรื่องมาก..แต่ถ้าเป็นเวทีผู้หญิงลองใช้คำประเภทเดียวกันคอมเมนท์ดู ..เผลอๆ ทัวร์ลง เรื่อง sexual harassment
คือพูดง่ายๆ ว่า มายาคติที่มีต่อผู้ชายในวันนี้คือ 1. การเปิดเผยเนื้อตัวของผู้ชายนี่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความน่าอาย เป็นความภูมิใจด้วยซ้ำว่า เล่นกล้ามมาเยอะหุ่นดีก็ควรโชว์ ผู้ชายเปลือยอกนี่เรื่องธรรมดาๆ หรือมีอะไรวับๆ แวมๆ กว่านั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร 2.ผู้ชายไม่ควรคิดมากเรื่องการถูกถ้อยคำที่มีลักษณะล่วงละเมิดทางเพศ เพราะผู้ชายถูกสลากแปะหน้าอยู่ว่า “ไม่ใช่เพศที่อ่อนแอ” ผู้ชายที่มีเสน่ห์ควรจะเล่นกลับให้เป็นด้วยซ้ำ แล้วคะแนนนิยมจะมา ถ้าคิดจะประกวด
แล้วผู้ชายที่แบบ..กล้าเปิดเนื้อเปิดตัวหน่อย เล่นด้วยไปกับถ้อยคำที่มีลักษณะ dirty joke ได้ ก็“มีภาษี”มากขึ้นในด้านการมี“ผู้สนับสนุน” ..สมมุติว่า เขาต้องการไปประกวดเวทีอะไรสักเวทีหนึ่ง เพื่อให้ตัวเองยิ่งดัง ก็ต้องหาสปอนเซอร์ของตัวเอง อย่างน้อย คลินิกความงามก็คือสปอนเซอร์ที่สำคัญ ทำผิวใสบ้างล่ะ ทำจมูก กรีดปาก กรีดตา บางคนก็ขอเป็น “เคสตัวอย่าง”คือแนวๆ ทำฟรี แต่ต้องโฆษณาให้คลินิกความงามนั้น..คลินิกความงามบ้านเราเยอะขนาดว่า ไปเดินแถวสยามเขวี้ยงหินเข้าไปสักสี่ห้าก้อน น่าจะมีสักสองก้อนโดนคลินิกความงาม
สปอนต่อมาที่ต้องหาคือชุด ประกวดสูท ชุดประจำชาติ ชุดว่ายน้ำอะไรก็ตาม มันมีการลงทุน รวยอยู่แล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่รวยก็ลำบากหน่อยอาจใช้ชุดเช่าหรือต้องหาสปอนเซอร์เอง …แต่อีกกรณี ถ้าเกิดเป็นเน็ตไอดอลชายไปประกวด ขอสปอนเซอร์ไม่ยาก เพราะเขาดูยอดการติดตามในสื่อโซเชี่ยลฯ อย่างอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ถ้าเยอะก็พร้อมจะสปอนเซอร์ให้ .. หรือบางคน ไม่ได้สนใจยอด follower แต่สนใจในประเด็น “ถ้าสปอนแล้วเขาได้อะไร?” ซึ่งก็ไม่ฟันธงได้ว่าทุกกรณีจะเป็นการต่อรองเรื่องเซกส์ ด้วยวิธีคิดที่ว่า “ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร” นี่คือคำโบราณ แต่เดี๋ยวนี้เขาคงใช้คำว่า “ชายแทร่” แบบว่า ..เป็นผู้ชาย “ไม่สึกไม่หรอไม่เสียหายเหมือนผู้หญิงหรอก”
ทำไมผู้ชายเดี๋ยวนี้ประกวดกันมากขึ้น ? ส่วนตัวคิดว่า ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ผู้หญิงเมื่อ 20 ปีก่อนประกวด คือ โอกาสในการเข้าวงการบันเทิง โอกาสในการที่จะมีตัวตนในโลกโซเชี่ยลแล้วผลประโยชน์จะตามมา เช่นการรับโฆษณาได้ เขาประเมินราคาจ่ายตามยอดคนติดตาม ..การเป็นที่นิยมในโลกโซเชี่ยลง่ายในยุคที่คนสมาธิสั้นมากขึ้น คือ “เขาดูรูป” ถอดเสื้อ ใส่ชุดว่ายน้ำ กระทั่งเปลือยแบบไม่ต้องเห็นหมด ถ่ายสวยๆ ก็มีคนแอดเพิ่ม ..อาชีพที่เฟื่องฟูขึ้นมาคือการเป็นช่างภาพ ซึ่งก็ขยายต่อยอดไปในการผลิตเนื้อหาสื่อโซเชี่ยลได้ เช่น ฝึกตัดต่อ ฝึกทำเนื้อหาประกอบ ..( แต่ก็มีคนบอกว่า เป็นเพราะเกย์มีมากขึ้น ดูแลตัวเองดี และถ้าเขาดูดี ติดตามสื่อโซเชี่ยลของคนที่ดูดีเหมือนกัน ..อย่างที่เรียกว่า เป็นปลาหมึกแถวบนเหมือนกัน .. ก็มีโอกาสพูดคุย เป็นเพื่อน ไปถึงมีความสัมพันธ์อะไรกันก็ได้ )
แล้วอย่าบอกว่า ผู้ชายที่ไปถ่ายโป๊จะต้องเป็นประเภทอับจนหนทางเสมอไป บางคนฐานะดี ประวัติ การงานดี แต่เขาก็มีเหตุผลว่า “อยากมีรูปในช่วงที่รูปร่างดีที่สุด” หรือแบบประเภทถ่ายเห็นหมด ก็มีทั้งประเภทภูมิใจจะโชว์เอง หรือไปอยู่ในแพลตฟอร์มประเภท onlyfans ซึ่งมีข่าวว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยชีวิตคนได้หลายคนช่วงโควิดระบาด คือ ไม่มีงานทำก็ถ่ายมันซะเลย บางทีขายคลิปลับ เปิดกล้องได้เงินดีอีกต่างหาก ..ประเภทก็มีงานมีการดีนะ แต่ถ่ายหาเงินซื้อของก็มี ของโป๊มันตอบสนองความต้องการระดับสัญชาตญาณของมนุษย์ ..และปัจจุบันวิธีคิดเกี่ยวกับของโป๊มันก็เปลี่ยนไปแล้ว
วิธีคิดเกี่ยวกับเพศที่โชว์โป๊ วันนี้ เหมือนกับว่า ผู้ชายถูกมองเป็นวัตถุทางเพศมากขึ้น และหลายคนก็เหมือนไม่คิดอะไรไปจนถึงภูมิใจก็ได้ ..ขณะที่ผู้หญิง การประกวดที่ยกระดับมากกว่าความงาม การเรียกร้องสิทธิสตรี มันทำให้ผู้หญิงที่เน้นการโชว์เรือนร่างกลายเป็น“ปลาหมึกแถวล่าง”ซึ่งไม่ใช่การถูกมองในด้านดีนัก.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”