ทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสสนทนากับ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ในเรื่องราวน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับ BCG Model รวมทั้ง “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงกิจกรรมปลูกป่า เรื่องรถยนต์ EV และท้ายสุดเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ทั้งกรณีไฟฟ้าล้นระบบ ปัญหาไฟแพง และความจำเป็นในการนำเข้าไฟฟ้า
ปลูกป่าสร้าง “คาร์บอนเครดิต”
ดร.คุรุจิตกล่าวว่า BCG Model เป็นแนวคิดของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (BioEconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรมรองรับนโยบาย 4.0 รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ไปสู่ภาคเกษตรและกลุ่มรากหญ้าด้วย
ดร.สุวิทย์เป็นคนผลักดัน BCG Model โดยให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นชอบ แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ออกไปแล้ว ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้ามาเป็น รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ ก็ต้องรับมรดกต่อ และ สวทช. ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวต่อไปให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีด้วยกัน 10 สาขา
“สำหรับผมอยู่ในกลุ่มของคุณเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท. ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ (BCG-BEMC) ซึ่งคุณเทวินทร์ในฐานะนักบริหารพยายามจับประเด็นและกำหนดจัดกิจกรรมที่ต้องผลักดันให้มีผลภายใน 1 ปี ประมาณ 5 เรื่อง โดยอยากให้เอาประเด็นโลกร้อนมาผนวกใน BCG ด้วย เพราะเป็นกรีนอีโคโนมี่ เนื่องจากแนวโน้มต่อไปจะมีการตั้งราคาคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้คนได้ใช้ของที่ปล่อยคาร์บอนฯน้อยลง เพราะมันมีราคา เนื่องจากถ้าขึ้นภาษีจะมีปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าเสนอให้ขึ้นภาษีเจอโวยแน่ แต่ถ้าเสนอในเชิงบวก สนับสนุนให้มีการปลูกป่า เพื่อสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอน (คาร์บอน ซิงค์) มากขึ้น เอาต้นไม้ใบไม้ไปดูดคาร์บอนออกจากอากาศ และสามารถเอามาตีเป็น “คาร์บอนเครดิต” ได้ คนที่อยากเอาคาร์บอนเครดิตที่ผลิตลดได้ไปขาย หรือนำไปชดเชยกับกิจกรรมที่เราปล่อย ตรงนี้ถือว่านำไปสู่การคำนวณราคาคาร์บอน (คาร์บอน ไพรซ์ซิ่ง) อย่างหนึ่ง”
ในขณะเดียวกันตนเป็นประธาน อบก. ซึ่งทีมผู้บริหารของ อบก. เขาแนะนำว่าการปลูกป่าสามารถนำมาขอคาร์บอนเครดิตได้ ภายใต้โปรแกรม T-VER คือกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าส่งเสริม เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังไม่มีใครขอ T-VER เรื่องการปลูกป่า ซึ่งเรื่องนี้เราก็พบว่าบริษัทเชลล์ประเทศไทย และบริษัทแม่ของเขา มีนโยบายต้องหาคาร์บอนฯมาชดเชย เพื่อไปลดก๊าซเรือนกระจกที่ไหน หรือต้องสร้างคาร์บอน ซิงค์ขึ้นมา ทางบริษัทเชลล์บอกว่ามีงบปลูกป่า 5 ล้านไร่ทั่วโลก เขามาถามว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ให้เขาปลูกป่าหรือเปล่า?
ตอนนี้มีเรื่องโลกร้อน โลกรวน ทำให้เอกชนและคนมีเงินอยากชดเชยโดยคาร์บอนเครดิต แต่เขาคิดนะว่าถ้าปลูกป่าหมื่นไร่-แสนไร่ แล้วเขาจะได้อะไร? ขอเป็นคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่ เขาจึงมาหา อบก. เพื่อให้ช่วยผลักดัน ทาง อบก.จึงหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าควรให้เขานะ เพราะไม่เช่นนั้นแนวคิดนี้คงเป็นแค่กระดาษอยู่อย่างนั้น ถ้าหน่วยงานรัฐมัวแต่คิดเล็กคิดน้อย ก็ไม่มีป่าผืนใหญ่ และไม่มีคาร์บอนเครดิต เสียที
“อบก.-สผ.” ผลักดันผ่านป่าชายเลน
สุดท้ายมีการประชุมกับผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะต้องใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) สำหรับการปลูกป่า ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ เห็นด้วย ปลัดกระทรวงก็เห็นด้วย ส่วนทช. เป็นกรมเก่าของปลัดกระทรวง ทางทช.ซึ่งควบคุมป่าชายเลนจึงเห็นด้วยและนำร่องออกระเบียบมาก่อน กลายเป็นที่มาของสูตร 90 : 10 ถ้าปลูกป่าชายเลน 1 หมื่นไร่ ลดคาร์บอนฯได้ 1 หมื่นตัน (ไร่ละ 1 ตัน) ทช.ขอเก็บเอาไว้เพื่อการกุศล 1,000 ตัน เอกชนเอาไป 9,000 ตัน ต่อไปในอนาคตอาจจะเอาเครดิตคาร์บอน 9,000 ตันไปขาย หรืออาจจะถ่ายรูปใส่กรอบติดไว้ที่บริษัทว่าช่วยลดโลกร้อน ช่วยลดคาร์บอนได้ 9,000 ตัน
ส่วนการขายเครดิตคาร์บอนนั้นต้องเป็นนโยบายระดับประเทศในอนาคต ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่เป็นความสมัครใจของ 2 ฝ่าย ระหว่างคนขายกับคนซื้อที่อยากทำกิจกรรมตอบแทนสังคม (CSR) สมมุติบริษัทใหญ่ ที่ปล่อยคาร์บอนฯเยอะ ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ๆ ก็มาซื้อเครดิตคาร์บอนจากบริษัทที่ปลูกป่า เอาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ผู้บริหาร อบก. ก็ต้องออกไปหาคนที่ต้องการปลูกป่า ถ้าเขาต้องการปลูกป่าชายเลนต้องรีบประสานกับ ทช. หรือประสานกับกรมป่าไม้ แต่ตอนนี้กรมป่าไม้ยังไม่ได้ออกระเบียบเหมือนกับ ทช.
ดร.คุรุจิตกล่าวต่อไปว่าบริษัทใหญ่ ๆ เช่น ปตท.-เชลล์-บางจาก-กฟผ. เป็นบริษัทระดับชาติ ถ้าจะลงทุนปลูกป่าเขาก็ต้องปลูกเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ ไร่ เขาไม่ได้ปลูกป่า 100 ไร่ เพื่อแก้บนนะ ดังนั้นถ้าจะปลูกป่าขนาดแสน-ล้านไร่ จะเอาพื้นที่จากไหน ก็ต้องเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมป่าไม้มีที่ดินมากมายก็จริง แต่คนบุกรุกเยอะแยะไปหมด แล้วถ้าจะให้บริษัทที่ต้องการปลูกป่าเข้าไปเคลียร์กับคนบุกรุกก่อนก็คงไม่ไหว เนื่องจากการปลูกป่าเป็นการลงทุนสูง ถ้าปลูกป่าแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่จ้างคนดูแล ปลูกไปได้ 1-2 ปี ต้นไม้ยังไม่ทันเจริญเติบโต เจอไฟป่าเผาตายหมด ต้องปลูกกันใหม่อีกแล้ว
โดยเมื่อ 10 ปีก่อน ต้นทุนการปลูกป่าแบบมาตรฐานตกไร่ละ 8,000 บาท รวมทั้งค่าจ้างชาวบ้านดูแลรดน้ำและดูแลไฟป่า อีกไร่ละ 1,500 บาท/ปี ต้องดูแลกันไปแบบนี้ 5 ปี จึงสามารถส่งมอบพื้นที่ปลูกป่าให้กรมป่าไม้ได้ ดังนั้นถ้าเอกชนต้องการปลูกป่าก็ต้องมีสิ่งตอบแทนให้เขา (คาร์บอนเครดิต) เมื่อปลูกป่าแล้วเขาก็ต้องมาจ้างทีมงานอบก. ไปตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองให้เขาว่าปลูกป่า 1 ไร่ ได้เครดิต คาร์บอน 1 ตันหรือเปล่า
“นี่คืองานในกลุ่มของคุณเทวินทร์กับผมกำลังทำ ถือว่ามีความคืบหน้าไปมากพอสมควร มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนเยอะ แต่สายนี้ (BCG-BEMC) ยังมีเรื่องที่สนใจและต้องใช้เวลาทำกันต่อไป เช่น การซื้อขายพลังงานทดแทนในชุมชน คือผลิตใช้เองกันในชุมชน คิดค่าไฟกันเองโดยใช้แอพพลิเคชั่น ไม่ผ่านรัฐ รวมทั้งเรื่องพลังงานชุมชนของกระทรวงพลังงาน และเรื่องใหญ่คือไบโอรีไฟเนอรี่ การนำพืชเกษตรแปรรูปในสู่เคมีวัสดุชีวภาพ”
รถยนต์ EV ควรค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มีการคุยกันเกี่ยวกับข้อเสนอที่ต้องการให้ยกเลิกรถยนต์สันดาปภายใน (รถยนต์น้ำมัน) ภายในปี 2035 ตรงนี้เป็นเป้าโลกสวยไว้ก่อน เพราะโดยส่วนตัวมองว่าเรื่องรถยนต์ EV ต้องค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ต้องเดินตามยุโรป-อเมริกา 100% เนื่องจากฐานะเรายากจนกว่าเขา ถ้าเลิกใช้รถยนต์น้ำมัน เกษตรกรที่ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และโรงงานเอทานอลออกมาประท้วงแน่ ๆ ส่วนปั๊มน้ำมันที่ต้องลงทุนหลายล้านบาทเพื่อติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV ถ้าชาร์จไฟกันครึ่ง ชม. หรือ 1 ชม. แล้ววันหนึ่งมีรถมาชาร์จไฟไม่กี่คัน เมื่อไหร่ปั๊มฯ จะได้ทุนคืน ดังนั้นเรื่องรถ EV จึงควรค่อยเป็นค่อยไป ตราบใดที่รถ EV ยังขายคันละ 3-5 ล้านบาท คงบังคับกันไม่ได้ แต่ค่อย ๆ ปรับมาใช้รถ EV แค่ 1 ใน 3 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในประเทศก่อน แค่นี้ก็ได้หน้าแล้ว
เมื่อถามถึงทิศทางของ “พลังงานไฟฟ้า” ในประเทศไทยต่อจากนี้ ดร.คุรุจิตกล่าวว่าเทรนด์ของโลกมาในแนวพลังงานสีเขียว พลังงานสะอาดมากขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง คนที่มีเงินและมีพื้นที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งถือเป็นสิทธิของเขา และรัฐไปห้ามเขาไม่ได้
แต่ช่วงที่ผ่านมาเราสร้างโรงไฟฟ้าไว้มาก มีสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เยอะ และผลิตไฟกันเองได้มากจากพลังงานทดแทน แต่เศรษฐกิจช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ดี ประชากรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญากับกฟผ. เกินความต้องการไป 45% ในปี 62 ส่วนปี 63 เกินความต้องการ 59% และปี 64 คงเกินความต้องการอีก จากปัญหามีไฟเยอะ แต่เศรษฐกิจไม่ดี ประชากรไม่เพิ่ม ทำให้เราจ่ายค่าไฟแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไฟที่เกินเป็นไฟที่ต้องซื้อ โดยโรงไฟฟ้าที่มีสัญญากับ กฟผ. จะต้องเรียกไฟจากเขา (โรงไฟฟ้า) ถ้าไม่เรียกไฟจากเขาก็ต้องจ่าย “ค่าความพร้อม”
แนวทางแก้ไขคือต้องปรับสูตรโครงสร้างไฟฟ้ากันใหม่ โรงไฟฟ้าต่อจากนี้ต้องเป็นสัญญาระยะสั้น และราคาต้องแข่งขันกันได้ ถ้าโรงไฟฟ้าโรงไหนหมดสัญญา รัฐต้องหากุศโลบายคุยว่าสัญญาต่อไปต้องอายุสั้นลง หรือแบ่งบางส่วนไม่ต้องมีสัญญา และต้องมีผู้กำกับ (เร็คกูเรเตอร์) ที่ยุติธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้
นำเข้า “ไฟฟ้า” ต้องอธิบายเหตุผลได้!
ส่วนเรื่องการนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ตนไม่รู้รายละเอียดมากนัก แต่ภาครัฐต้องอธิบายได้ว่านำเข้ามาแล้วเป็นภาระต้นทุนกับค่าไฟบ้านเราหรือไม่ ค่าไฟจะถูกลงหรือแพงขึ้น มีความเสี่ยงหรือเปล่าถ้าจะนำเข้าไฟจากลาวเพียงประเทศเดียว ที่สำคัญตั้งแต่สมัยตนเป็นรองปลัดฯมีการไปคุยว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนหลายแห่ง แต่ในบางประเทศของยุโรปเขาไม่นับว่าไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นพลังงานสีเขียว เพราะการสร้างเขื่อนมีการตัดไม้ทำลายป่า บางเขื่อนต้องอพยพผู้คนหลายหมู่บ้าน ไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ได้ปล่อยคาร์บอนฯก็จริง แต่ทำลายป่าหรือเปล่า? ต้องอพยพผู้คนหรือเปล่า? ถ้าไฟฟ้าเกิดจากเขื่อนในลาว ต้องไปขอคาร์บอนเครดิตในลาว คงไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ตอนนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ได้ปล่อยคาร์บอนฯเพิ่ม และมีการใช้ถ่านหินลดลงอยู่แล้ว จากสัดส่วนการผลิตไฟด้วยถ่านหิน 20% (2,400 เมกะวัตต์) ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมดในประเทศ ปัจจุบันลดลงมาเหลือสัดส่วน 16% (2,200 เมกะวัตต์) น้อยกว่าเยอรมนี-จีน ลองไปหาข้อมูลเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ประเทศหัวขบวน “กรีนพีซ” ทั้งนั้น แต่ยังใช้ถ่านหินมากกว่าไทย และเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวยก็ต้องใช้ถ่านหินไปก่อน
ถ้าจะลดสัดส่วนถ่านหินลงจากนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ประเทศมีสีเขียวขึ้นมากนัก ถ้าอยากลดโลกร้อน หรืออยากลดค่าไฟก็ต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีสารพัดปัญหารุมเร้าอยู่แล้ว อย่าเพิ่งพูดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตอนนี้เลย แต่ที่ตนเป็นห่วงคือกลัวว่าจะมีนักเลงดีแอบไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งไฟฟ้าเข้ามาขายให้ไทย คงไม่รู้ว่าเราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน.