การขู่กรรโชกในลักษณะเช่นนี้ กลายเป็นหายนะของพลเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกา ตั้งแต่เม็กซิโก และอเมริกากลาง ไปจนถึงโคลอมเบีย, เอกวาดอร์ และเปรู ขณะที่กลุ่มผู้ขู่เข็ญประชาชน ได้รับกำไรหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการค้ายาเสพติด, การค้ามนุษย์ และการทำเหมืองผิดกฎหมายเสียอีก

ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่, บริษัทขนส่ง, พื้นที่อยู่อาศัย และเมืองทั้งเมือง ต่างถูกบังคับจ่ายเงินให้กับกลุ่มอาชญากร เพื่อแลกกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ด้านนายฮอร์เก ชาเวซ อัยการต่อต้านอาชญากรรมชาวเปรู กล่าวว่า กลุ่มอาชญากรหลักที่ดำเนินการขู่กรรโชกในหลายประเทศ กลายเป็น “บริษัทอาชญากร” ซึ่งค้นหาตลาดและหุ้นส่วนในประเทศอื่น ๆ

กระนั้น ความกลัวที่มีต่อแก๊ง ไม่ได้หยุดยั้งผู้คนจากการยื่นเรื่องร้องเรียนการขู่กรรโชก โดยเปรูมีรายงานกรณีดังกล่าวมากกว่า 19,400 ครั้ง เมื่อปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ขณะที่เอกวาดอร์ ซึ่งอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็มีรายงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนในเม็กซิโก รายงานการขู่กรรโชกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1 ครั้งต่อชั่วโมง

“แก๊งเหล่านี้ได้สร้าง “รัฐคู่ขนาน” ซึ่งพวกเขาควบคุมดินแดน และสร้างระบบภาษี” พ.ต.ท.โรแบร์โต ซานตามาเรีย หัวหน้าตำรวจเขตนูเอวา พรอสเปรินา หนึ่งในย่านที่มีความรุนแรงมากที่สุด ในเมืองท่ากัวยากิล ประเทศเอกวาดอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาชญากรมักจะใช้ผู้เยาว์ไปเก็บเงินแทนตัวเอง เนื่องจากเยาวชนไม่สามารถถูกตั้งข้อหาได้

ภาพถ่ายมุมสูงของย่านลูริกันโช ชุมชนการค้าที่ในบางเวลาถือเป็น “ตลาดมืด” ในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู

อีกด้านหนึ่ง นางเอลิซาเบธ ดิกคินสัน นักวิเคราะห์ของอินเทอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) ในโคลอมเบีย กล่าวว่า ประชาชนประมาณ 300,000 คน ในเมืองบูเอนาเวนตูรา ต้องจ่ายเงินให้แก๊งอาชญากรรม “ทุกคน” ไม่ว่าพวกเขาจะเปิดธุรกิจ, ก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ก็ตาม

ในเปรู นอกจากการเรียกเก็บค่าคุ้มครองแบบคลาสสิกแล้ว กลุ่มอาชญากรยังเสนอสินเชื่อขนาดเล็ก พร้อมอัตราดอกเบี้ยรายสัปดาห์ที่สูงถึง 20% ซึ่งหาก “ลูกค้า” ไม่สามารถจ่ายได้ พวกเขาจะเริ่มขู่กรรโชกในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การทำลายทรัพย์สิน ไปจนถึงการขู่ฆ่าสมาชิกในครอบครัวของอีกฝ่าย

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนร้ายยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อซ้อนใบหน้าของผู้หญิงบนร่างที่เปลือยเปล่า และรีดไถเงินจากเหยื่อ เพื่อแลกกับการไม่เผยแพร่รูปภาพเหล่านี้

แต่ถึงอย่างนั้น วงล้อของธุรกิจในภูมิภาคแห่งนี้ยังคงหมุนต่อไป แม้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัว และไม่อยากพูดกับคนอื่นว่า พวกเขาจ่ายเงินให้กับแก๊งอาชญากรรมหรือไม่ก็ตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP