เว้นแต่ดาราคนนั้นจะนำเสนอภาพลักษณ์ตัวเองเป็นกะเทย ก็จะต้องมีสถานะเป็นตัวตลก บางทีเป็นทั้งตลกสังขารหรือตลกเหยียดเพศ ดาราหลายคนโดนเมาท์ว่าเป็นเกย์ก็ต้องออกมาแก้ข่าวกันวุ่นวาย คนไทยถือเรื่องชายรักชายแค่ไหน? ก็มีตัวอย่างขำๆ อันหนึ่ง คือ สื่อไทยบางเจ้า ณ ขณะนั้นไปเสนอข่าวพระเอกคีนู รีฟส์ ซึ่งสุดหล่อและโด่งดังขวัญใจสาวๆ จากผมทรงสกินเฮดบาดใจในเรื่อง speed ..ไปเสนอข่าวว่า “คีนูแต่งงานกับผู้ชาย” กลายเป็นอึงอลกันอยู่ไปพักหนึ่งในเชิงผิดหวังไปถึงอี๋แหวะ รังเกียจรับไม่ได้เลย แต่ต่อมา มันก็แค่ข่าวเต้า คีนูเคยรับบทชายขายตัวในเรื่อง My own private Idaho มีฉากเลิฟซีนกับดาราหนุ่มริเวอร์ ฟินิกซ์ ผู้ล่วงลับ ก็เอามาเต้าเป็นตุเป็นตะ
แต่พลวัตของสังคมก็เปลี่ยนไป ต่อมา เพื่อแสดงความเป็น “ศิวิไลซ์” ในโลกเสรีนิยม คนไทยเราก็บอกยอมรับกลุ่มคนรักร่วมเพศได้ แต่ช่วงแรกๆ อาจต้องอยู่ในสภาพ “ยอมรับโดยมีเงื่อนไข” คือต้องเป็นคนดี จนทำให้เกย์ กะเทยยุคหลังๆ บอกว่า แล้วพวกชายจริงหญิงแท้ (หรือจะเรียกว่า cisgender เพศสภาพตรงเพศกำเนิดก็ได้) นี่ไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้รับการยอมรับ ว่างั้น? ถ้าพูดกันด้วยภาษาหรูๆ ในโลกที่ชอบจะรื้อถอนค่านิยมเดิมๆ และบูชาความเป็นเสรีนิยม คือ คำว่า “เป็นเกย์ก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดี” จัดเป็นวาทกรรมกดทับ
หลายปีก่อน บางคนอาจจำการ์ตูนญี่ปุ่นแนววายได้ คือเรื่อง Hen พระเอกเป็นหนุ่มแบดบอยร่างใหญ่ และมี “นายเอก” ก็คือผู้ที่รับบทนางเอกหากเป็นเรื่องแนวชายหญิง เป็นหนุ่มหล่อร่างบาง ซึ่งตอนนั้นก็มีเด็กมัธยมที่อ่านแล้วจิ้นกันไปเยอะ เพราะรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเกย์” ถ้าตัดสินโดยใช้ความรู้สึก แนววาย คือ “เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ pan romance” คำนี้คือแนวๆ “รักเพราะเธอเป็นเธอ” คืออย่างไรก็รักแค่คนนี้คนเดียว โดยไม่ได้เกี่ยวกับเพศ คนอื่นที่จะเข้ามาใหม่ไม่ว่าเพศชายหรือหญิง ก็ไม่รัก ..ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่น่ากรี๊ดกร๊าดมากว่า มันโรแมนติก
ต่อมา ในเว็บบอร์ดพันทิป ก็มีการตั้งกระทู้ “กูไม่ใช่เกย์ มาจีบกูทามมายยยย” หรือที่เรียกว่ากระทู้เซ็งเป็ด ว่าด้วยเรื่องชายหนุ่มที่เจอเพื่อนร่วมงานชายมาเล่นด้วยแบบออกจะเลยเถิดให้คิดไปไกล เป็นเรื่องที่มีแฟนคลับตามติดแทบกดปุ่ม F5 รีเฟรชกันรัวๆ ถ้าใครไม่ทันกระทู้เซ็งเป็ดก็ให้นึกถึงอารมณ์กระทู้ธี่หยด .. คือการเสนอภาพความสัมพันธ์ของผู้ชายแบบหมาหยอกไก่ ชวนให้จิ้นไปถึงไหนๆ .. เรื่องนี้ถูกเอาไปทำเป็นหนังแต่มันอาจมาผิดเวลาคือ เป็นช่วงที่เนื้อเรื่องแนววายยังไม่บูมมาก มันก็เลยค่อนข้างเงียบไปหน่อย เรื่องแนววายในวงการภาพยนตร์ที่เปิดตัวออกมาแล้วดังที่สุดคือรักแห่งสยาม
แล้วเนื้อเรื่องแนววายก็ค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่อง love sick ที่ก็มีผู้ติดตามมากมาย ถ้าจำไม่ผิด..เรื่องนี้คือเรื่องแรกๆ ที่ปรับระบบการพิมพ์ใหม่ คือ การให้พรีออเดอร์ก่อนแล้วพิมพ์ตามจำนวน ทำให้มันกลายเป็นนิยายหายากอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาก็ไม่แน่ใจว่า เอามาพิมพ์ขายแพร่หลายแล้วหรือไม่ และได้ข่าวว่ากำลังจะมีการรีเมคอีกครั้งหนึ่ง .. ความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนเกิด “คู่จิ้น”ซึ่งหมายถึงคู่ที่จับคู่เล่นซีรีส์ด้วยกันแล้วจะได้รับความนิยมมากมาย อย่างคู่จิ้น “คริส-สิงโต” จากเรื่อง sotus พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ให้นิตยสาร Attitude ที่เอาคู่นี้ขึ้นปกขาดตลาดอย่างรวดเร็ว และต่อมาก็มีคู่จิ้นจากเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกเยอะ เช่น เรื่องคินพอร์ช, เรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ
สื่อโทรทัศน์กระแสหลัก เดิมปฏิเสธเนื้อหาแนวๆ วาย บอกว่า มันก็ไม่ต่างกับเรื่องเกย์แหละ (ซึ่งก็ไม่รู้มีเหตุผลบ้าๆ บอๆ อีกไหมว่า ป้องกันเยาวชนเลียนแบบ ซึ่งฟังดูแล้วดูถูกสติปัญญาเยาวชนไทยเหลือเกิน ..แต่บางคนก็ว่าระวังไว้บ้างก็ดี เพราะบางคนหัดดมกาวแบบเทใส่ถุงแล้วดม เลียนแบบในหนังนั่นแหละ) พระเอกคนไหนรับบทเกย์นี่ความนิยมจะน้อยลง อาจมีบทบาทเป็นตัวประกอบบ้างเช่นคู่เกย์ในละครรักแปดพันเก้า
แต่มาวันนี้ หลายคนมองข้ามเรื่องเพศของดาราไปแล้ว ก็จากนิยายวายส่วนหนึ่ง เรื่องการเติบโตของแนวคิดเคารพในความเป็นตัวตนของคนอื่นก็ส่วนหนึ่ง ..ซึ่งดูแล้วมันก็เป็นเรื่องดี ที่หลายๆ คนจะได้เป็นตัวของตัวเองในด้านการเปิดเผยเพศสภาพ ..วันนี้ “วงการวาย”พัฒนาไปเยอะ ลองไปเดินๆ ดูตามแผงในร้านขายหนังสือ มีซุ้มนิยายวายต่างหากกันทีเดียว ทั้งนักเขียนไทยและเรื่องแปล ซึ่งน่าสนใจตรงที่เรื่องแปลจีนเยอะมาก ไม่ทราบว่า มาจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวัน เพราะถ้าเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ละครวายดังเกินไปรัฐบาลหมั่นไส้แบนมาแล้ว คือเรื่อง Addicted ที่ไทยกำลังเอามารีเมค (เอาจริงเนื้อหาประเภทที่จีนกำลังจับตาว่า ไม่น่าจะเหมาะสมอีกอย่าง คือเนื้อหาประเภทตัวเอกเป็น brotherhood ที่ใกล้ชิดกันจนคนเอาไปจิ้นในเชิงวายได้ ทางจีนเรียกว่าแนว dangai)
วงการวาย สร้างรายได้ให้กลุ่ม“นักเขียนหน้าใหม่” โดยการไปเขียนตามแพลตฟอร์มที่เปิดรับเรื่องเช่น read a write แล้วบางตอนก็มี “ใส่กุญแจ” ไว้ว่า ถ้าจะอ่านตอนนี้ต้องเสียตังค์ หรือไม่ก็คนเขียนเห็นว่าเรื่องมันท่าจะดัง ก็ใช้วิธีเปิดระดมทุนที่เขาเรียกว่า donate แต่จริงๆ มันควรจะเรียกว่า pre-order มากกว่า ..เก็บเงินไปจ้างสำนักพิมพ์พิมพ์เป็นเล่ม ถ้าเงินหนาหน่อยก็พิมพ์เผื่อขายส่วนหนึ่งด้วย และถ้าเกิดจับพลัดจับผลู เรื่องดังขึ้นมาก็มีผู้ซื้อไปทำซีรีส์ ก็ได้ค่าลิขสิทธิ์เรื่องอีก
แต่ถ้าจะพูดกันจริงๆ ผู้ปกครองก็ต้องระวังเวลาบุตรหลานอ่านนิยายวาย…เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ชวนให้จิ้นใสๆ แบบกระทู้เซ็งเป็ดที่กล่าวมาข้างต้น บางเรื่องเขียนเลิฟซีนโจ๋งครึ่มมากยิ่งกว่าสมุดปกขาว บางทีคนเขียนยังเรียนไม่จบไม่เคยมีเซกส์ด้วยซ้ำก็ไม่รู้ว่าคิดได้อย่างไร ..และพวกหนังสือนิยายวายพรีออเดอร์นี่บางเรื่องก็แถมโปสการ์ดภาพวาดจากในเรื่อง แต่เป็นอากัปกิริยาประเภทร่วมเพศกันอยู่ ..คืออย่าเห็นว่าปกเป็นแบบการ์ตูนตาหวานแล้วเรื่องจะธรรมดาๆ บางเรื่องปกแบบนั้นแหละ แต่ร่วมเพศกันทั้งเรื่อง ..(และอยากบอกนักอยากเขียนวายว่า เรียนเรื่องหลากคำกันบ้างนะน้องนะ ไอ้คำว่า “ร่างหนา”, “ร่างบาง” นี่ใช้เยอะพร่ำเพรื่อ พารากราฟเดียวเจอสิบร่าง .. อวัยวะเพศก็ใช้แค่คำว่า “แก่นกาย”)
โทรทัศน์กระแสหลักเปิดรับเนื้อหาประเภทรักเพศเดียวกันมากขึ้น ทั้ง “รักแบบชายรักชาย” และ “ชวนจิ้นว่ารักกัน” และเอาละครวายลงเวลาไพรม์ไทม์ได้ เช่นช่องวันที่เอาเรื่อง “คั่นกู” มาลงในช่วงโควิด ก็เป็นที่นิยมอย่างสูง หรือช่องสามเอา “คุณหมีปาฏิหาริย์” มาลงไพรม์ไทม์ แต่เรื่องนี้กระแสยังไม่ค่อยดีนัก..คาดว่า เพราะผู้บริโภคเนื้อช่องสามไม่ได้ชินกับเนื้อหาแนวนี้ … ขณะเดียวกันก็มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กว้านซื้อนิยายวาย หรือคิดพลอตวาย ทำซีรีส์มากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนี่คือส่งออกต่างประเทศได้ และละครวายไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ( แต่ถ้าเป็นฝั่งประเทศมุสลิมในภูมิภาคอาเซียน การเสพละครวายก็ค่อนข้างลำบากหน่อย เคยมีกรณีที่มีการเชิญดาราวายไปโชว์ตัวที่มาเลเซียแต่ถูกยกเลิกงาน )
ในวงการบันเทิง การออกงานของ “คู่จิ้น” หรือ “คู่ชิป” (มาจาก relationship) สร้างมูลค่ามหาศาลให้ตัวดารานักแสดง โมเดลลิ่งหรือค่าย .. อธิบายง่ายๆ ว่า มันไม่ได้มีแต่แฟนคลับไทยที่ดู แต่มีทั้งจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน บินมาดู โดยเฉพาะจีน ซึ่งสาววายไทยต้องเรียก “แม่จีน” เพราะทุ่มเปย์ให้ดาราวายที่ตัวเองชอบไม่อั้น แบบเสียเป็นแสนแขนไม่ได้จับก็..แล้วไงเหรอ พอใจจะเปย์เพราะรักนะจ๊ะ (อารมณ์ประมาณแม่ยกลิเกทำพวงมาลัยธนบัตรคล้องคอลิเก) การทุ่มเปย์ก็อย่างเช่นว่า ถ้าสินค้าอะไรสักอย่างจัดโปรโมชั่น ส่งฉลากผลิตภัณฑ์มาจับรางวัลแฟนมีท ..อีสินค้านั้นจะหายจากตลาดไปรวดเร็ว สมมุติว่าถ้าเป็นขนม เราจะเห็นตัวผลิตภัณฑ์โดนทิ้งหมด ..แม่ๆ เขาซื้อมาจะแต่ส่วนที่จะจับฉลาก แม่จีนนี่เป็นตลาดเปย์ที่ใหญ่มาก เกิดมีแฟนมีทติ้งดาราวายที่ตัวชอบ ก็ซื้อตั๋วเครื่องบินมาดู และก็มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าอื่นในไทย
ปัจจุบันดาราวายยกระดับขึ้นมาเป็นระดับแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้สินค้าแบรนด์นอกได้ ยิ่งดูไฮโซขึ้นไปอีก ..เรียกว่า แต่ก่อนถ้ามีบทวาย บทรักร่วมเพศนี่ โมเดลลิ่งไม่ส่งเด็กให้หรอก แต่เดี๋ยวนี้ถ้ามีบทแทบจะเอาตัวทอปของค่ายขึ้นพานเสนอให้ เพราะการบริโภคที่สืบเนื่องจากซีรีส์วายมีมาก เอาแค่จัดแฟนมีทติ้งก็คุ้มแล้ว ..แต่บางที ก็ต้องเดาอารมณ์สาววายให้ถูก บางคนก็ชอบละลาบละล้วง แสดงความเป็นเจ้าของดาราเกินเหตุ หรืออีกกรณีคือ “ถ้าดาราคนนี้ต้องคู่กับคนนี้เท่านั้น” สมมุติว่า ดาราคู่หนึ่งเล่นวายแล้วเคมีมันเข้ากัน กลายเป็นคู่จิ้น พอคู่นั้นแยกไปเล่นกับคนอื่นละครกลับไม่ดัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “คาดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับความนิยมวาย” คือเรื่องการถ่ายภาพเปลือยของผู้ชาย ซึ่งมิติการมองเรือนร่างของผู้ชายในเชิงเร้าอารมณ์ทางเพศเริ่มมีเยอะขึ้นหรือเด่นชัดขึ้น เราจะเห็นคนรูปร่างหน้าตาดีๆ ถ่ายโป๊อย่างใส่กางเกงในหรือโชว์อวัยวะเพศมันเลย ซึ่งเมื่อก่อน นายแบบคนไหนทำแบบนี้จะโดนสื่อด่าไม่ใช่น้อย ..ว่าหน้าด้านบ้างล่ะ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีบ้างล่ะ และเป็นเรื่องน่าอายบ้างล่ะ … แต่เดี๋ยวนี้ตลาดมีการบริโภคมากพอสมควร บางคนก็ถ่ายกับอีแมกกาซีนเป็นหัว บางคนก็ทำ onlyfans ของตัวเอง …ที่ว่า คาดว่าจะมีความเชื่อมโยง..เพราะเนื้อเรื่องแนววายหลายเรื่อง มีการบรรยายบทรัก หรือเรือนร่างของพระเอกนายเอก ..ก็เลยมีคนทำเป็นภาพให้เห็นซะเลยไม่ต้องจิ้น ..แต่สาววายหลายคนก็คงเถียงว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะผู้ชายถ่ายโป๊มากขึ้นเป็นการตอบสนองต่อตลาดกลุ่มชายรักชายซะมากกว่า
แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายภาพเปลือยของผู้ชาย จากที่เดิมดูเป็นเรื่องที่ไม่ยอมรับกันมากนัก อารมณ์ประมาณสิบกว่าปีก่อน ใครมาถ่ายดูเป็น “เด็กขาย” แต่ปัจจุบันนี้เห็นถ่ายกันเยอะแยะ เรียกว่า spornosexual คือการโชว์ความภาคภูมิใจในรูปร่างที่เล่นกล้ามมาอย่างดี และคนถ่ายประกอบอาชีพพิเศษหรือไม่? มันก็มี แต่เขาลดทอนความรุนแรงของภาษา โดยเรียกเป็น “เด็กเอ็น” แทน เอ็นปกติก็ดื่ม กินข้าวกับลูกค้า เอ็นวีก็มีเซ็กซ์ด้วย ..
จากที่กล่าวมาข้างต้น ซีรีส์วายมีคุณสมบัติเป็นเครื่องมือของซอฟต์พาวเวอร์ได้ เช่น การใส่สินค้าหรือวัฒนธรรมบางอย่างลงไปในซีรีส์ ให้มันมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ใช่ยัดเยียด อย่างในหนังที่มีบริษัทประกันชีวิตเป็นนายทุน ที่ใส่ฉากทำประกันลงมาแบบ ..อิหยังวะ และไม่ใช่ยัดเยียดแบบว่าต้องเสนอความเป็นไทยเชิงอนุรักษ์นิยมจนเกินเหตุ เอาที่มันพอดีๆ เป็นภาษาสากลได้ อย่างหนังเรื่องแมนสรวง นั่นพอดี … ต้องมีการยกระดับนักแสดงโดยการรักษาภาพลักษณ์ ให้ออกงานดีๆ มีโอกาสไปดูแฟชั่นแบบนั่งแถวหน้าในต่างประเทศ ดูแลการแต่งตัวให้เป็นเอกลักษณ์อย่าง “พีพี กฤษฏ์” คนเห็นก็ชอบ และการสนับสนุนในรูปแบบการบริโภคก็เข้ามามาก
คือบางทีก็คิดเล่นๆ ว่า “รัฐบาลลงทุนกับการปั้นดาราวายดีหรือเปล่า แบบเหมือนการใช้ลอบบี้ยิสต์ คือต้องมองว่าใครสามารถดันได้แล้วพยายาม‘ส่งออก’ให้ดูมีภาพลักษณ์อินเตอร์ ..ซึ่งวันนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์กำลังมองเรื่องการใช้เนื้อหาวาย และยูริ (หญิงรักหญิง) เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์อื่น หรือสินค้าไทย
ก็ลองดูว่า ในสองสามปีนี้ เรื่องแนววายจะส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญได้อย่างไร.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”