สืบเนื่องจากระบบการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเปิดกว้างมากที่สุดในยุโรป โปรตุเกสมีประชากรที่เกิดในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเอเชียใต้ ที่มาทำงานในภาคส่วนเกษตรกรรม, การประมง และร้านอาหาร

องค์การเพื่อการบูรณาการ การย้ายถิ่นฐาน และการลี้ภัยของโปรตุเกส หรือ “ไอมา” (AIMA) รายงานว่า ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในโปรตุเกส มีจำนวนน้อยกว่า 500,000 คน เมื่อปี 2561 และเพิ่มเป็นประมาณ 1 ล้านคนในปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ

ประชาชนสัญจรในย่านเบม ฟอร์โมโซ ของกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นย่านชุมชนของผู้อพยพในโปรตุเกส

ชาวบราซิล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับโปรตุเกสมายาวนาน ยังคงเป็นกลุ่มผู้อพยพขนาดใหญ่ที่สุด จำนวนประมาณ 400,000 คน รองลงมาคือ ชาวสหราชอาณาจักร และชาวยุโรปจากประเทศอื่น ๆ ส่วนผู้อพยพชาวอินเดีย และชาวเนปาล มีจำนวน 58,000 คน และ 40,000 คน ตามลำดับ ส่วนชาวบังกลาเทศ และชาวปากีสถาน ติดอยู่ใน 10 อันดับผู้อพยพหน้าใหม่

“เหตุผลหลักที่โปรตุเกสมีจำนวนผู้อพยพมากขึ้น คือ ประเทศต้องการพวกเขา เนื่องจากโปรตุเกสมีประชากรสูงวัยเกือบมากที่สุดในทวีปยุโรป เป็นรองแค่อิตาลีประเทศเดียว” นายลูอิส โกเอส ปินเยโร หัวหน้าของไอมา กล่าว

เกษตรกรชาวโปรตุเกสบางคน ตัดสินใจจ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกกฎหมาย ผ่านบริษัทจัดหางาน เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก และไม่มีแรงงานภาคเกษตรกรรมอีกแล้ว เช่นเดียวกับชุมชนการประมงแบบดั้งเดิมของประเทศ ที่มีลูกเรือครึ่งหนึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย

กลุ่มผู้อพยพจับกลุ่มรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในย่านเบม ฟอร์โมโซ ของกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นย่านชุมชนของผู้อพยพในโปรตุเกส

อนึ่ง โปรตุเกสเป็นประเทศของผู้อพยพ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ต้องการย้ายถิ่นฐาน นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21

“ไม่ว่าคุณจะใช้ตัวชี้วัดใดก็ตาม หากพูดถึงการย้ายถิ่นฐาน โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีน้ำใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป” นายฆอร์เก มัลเยรอส ผู้สันทัดกรณีด้านการย้ายถิ่นฐาน จากมหาวิทยาลัยลิสบอน กล่าว

ขณะที่นายทิโมเทโอ มาเซโด จากกลุ่ม “อิมมิแกรนต์ โซลิแดริตี” ระบุเสริมว่า แม้กฎหมายของโปรตุเกสไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ดีกว่าหลายประเทศที่มีนโยบายถดถอย จริงอยู่กฎหมายเหล่านี้ป้องกันไม่ให้ผู้คนนำโศกนาฏกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่อื่น เข้ามาในประเทศตัวเอง และผู้อพยพใช้ชีวิตภายใต้ความกลัวที่จะถูกขับไล่ แต่มันก็ไม่ได้หยุดยั้ง การทำเงินจากความทุกข์ยากของมนุษย์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP