สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะครบวาระในวันที่ 10 พ.ค.67 หลังจากนั้นจะมีการเลือกสว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งมีความ “สลับซับซ้อน” มากพอสมควร โดยไม่ใช่การเลือกตั้ง เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือก! เนื่องจากผู้สมัครสว. เขาจะเลือกกันเองใน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ (เลือก2ครั้ง) ระดับจังหวัด (เลือก2ครั้ง) ระดับประเทศ (เลือก2ครั้ง)
“ไทม์ไลน์” เลือกสว.200 คน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข้อมูลกับทีมข่าว “Special Report” ว่าเมื่อสว. ชุดปัจจุบันครบวาระ ในวันที่ 10 พ.ค.67 และมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. อีก 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการรับสมัครส.ว.เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วัน จะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร หลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ
จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วัน ถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนก.ค.67 เมื่อรู้ผลแล้วกฎหมายระบุว่า ให้กกต.รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผลรับรองสว.ทั้งหมด 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ
ผู้สนใจลงสมัครเป็นสว. เพื่อเข้าไปกินเงินเดือน 113,560 บาท นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการในแต่ละครั้งที่ได้เข้าร่วมประชุม รวมถึงสิทธิสวัสดิการอื่นๆด้านการรักษาพยาบาลอีกทั้งยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือนๆละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือนๆละ 15,000 บาท ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน เงินเดือนๆละ 15,000 บาท
จะสมัครเป็นสว.ต้องดูก่อนว่าอยู่กลุ่มอาชีพใด(20กลุ่ม)
ผู้สมัครเป็นสว. นอกจากอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีแล้ว! จะต้องค้นหาตัวตนให้เจอว่าอยู่กลุ่มอาชีพไหน ภายใน 20 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 4.กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9
11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 14.กลุ่มสตรี
15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน 18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 20.กลุ่มอื่นๆ
เลือกระดับ “อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ” รวม 6 ครั้ง
สว.ชุดใหม่จะเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพเหล่านี้ กลุ่มละ 10 คน (20กลุ่ม) รวมเป็นสว. 200 คน เลือกกันเอง 6 ครั้ง (อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ) กว่าจะได้สว. ครบ 200 คน
ระดับอำเภอ : ใครอยู่อำเภอไหนก็ไปสมัครที่อำเภอนั้นตาม 20 กลุ่มอาชีพ บางอำเภออาจมีคนมาสมัครไม่ครบ 20 กลุ่มอาชีพก็ไม่เป็นไร หลังจากนั้นจะมีการเลือกกัน 2 ครั้ง ด้วยวิธีการแนะนำตัวบอกว่าเราเป็นใคร จบการศึกษาอะไร มีประวัติและประสบการณ์การทำงานอย่างไร
โดยครั้งที่ 1 ผู้สมัครเลือกตัวเองและเลือกเพื่อนผู้สมัครด้วยกัน เพื่อให้ได้ตัวแทนเข้ามากลุ่มละ 5 คน (กลุ่มอาชีพไหน มีผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ก็เข้ามาได้เลยทั้งหมด) ครั้งที่ 2 เมื่อได้ตัวแทนกลุ่มละ 5 คนเข้ามาแล้ว ก็จับสลากแบ่งสายเพื่อเลือกแบบไขว้ คราวนี้ไม่ให้ผู้สมัครเลือกตัวเองแล้ว แต่ให้เลือกคนอื่น แต่ละกลุ่มอาชีพจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน โดย 1 อำเภอ มี 20 กลุ่มอาชีพ คือมีตัวแทนอำเภอละ 60 คน ปัจจุบันทั่วประเทศมี 928 อำเภอ ดังนั้นเมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน หลุดเข้ารอบไปลุ้นในระดับจังหวัด
ระดับจังหวัด : มีรายชื่อผู้สมัครครบ 20 กลุ่มอาชีพแน่นอน! โดยผู้สมัครสว.ต้องเลือกอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เลือกตัวเองได้ และครั้งที่ 2 ต้องเลือกคนอื่นเท่านั้น เลือกตัวเองไม่ได้! เพื่อให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนลำดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ คือได้ตัวแทนจังหวัดละ 40 คน รวม 77 จังหวัด จะมีผู้ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน
ระดับประเทศ : ตัวแทน 3,080 คน จาก 77 จังหวัดที่ผ่านเข้ารอบ จะกระจายอยู่ 20 กลุ่มอาชีพ (กลุ่มละ 154 คน) จะทำการเลือกกันอีก 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เลือกตัวเอง และเลือกผู้สมัครคนอื่น ให้เหลือ 40 คน/กลุ่ม และครั้งที่ 2 จับสลากแบ่งสาย เพื่อเลือกคนอื่นเท่านั้น แล้วกกต. จะประกาศชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุด ลำดับที่ 1-15 ของทุกกลุ่มอาชีพ
ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ในทุกกลุ่มอาชีพ จะได้เป็นสว. ส่วนลำดับที่ 11-15 จะประกาศไว้เป็น “ตัวสำรอง” 100 คน
ใช้ทุนแค่232ล้านบาท-ส่งผู้สมัครได้เกือบแสนคน
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยกับทีมข่าว “Special Report” ว่าการเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน มีความซับซ้อนพอสมควร เพราะคนเขียนรัฐธรรมนูญปี 60 อยากได้สว. ให้มีความแตกต่างจากสส. ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งซ้ำกับสส. จึงใช้กลุ่มคนอาชีพต่างๆ มาเลือกกันเอง และเพื่อป้องกันการ “แลกคะแนน” หรือ “ฮั้วกัน” จึงต้องออกแบบให้มีการ “เลือกไขว้กัน” ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ
แต่มีประเด็นที่ต้องจับตาว่า ถ้าพรรคการเมืองใหน หรือนายทุน มีเครือข่ายกระจายอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ (928อำเภอ) และมีเงินทุนแค่ 232 ล้านบาท เป็นสปอนเซอร์ค่าสมัครคนละ 2,500 บาท ให้กับผู้สมัครสว. ไปสมัครแค่กลุ่มอาชีพละ 5 คน เท่ากับ 1 อำเภอ ส่งคนไปลงสมัครไว้ 100 คน (เสียค่าสมัคร 2,500×100 =250,000 บาท/อำเภอ)
ดังนั้นการใช้ทุนแค่ 232 ล้านบาท แต่สามารถส่งคนไปสมัครสว.ทั้วประเทศได้ถึง 92,800 คน ในขณะที่ กกต. ประเมินไว้ว่าจะมีผู้สมัคร สว.ครั้งนี้ ประมาณ 100,000 คน ถ้าตัวเลขผู้สมัครจริงๆ ใกล้เคียงกับตัวเลขของกกต. ดังนั้นถ้าเขาส่งคนสมัคร 92,800 คน ก็ลองนึกภาพกันดูว่าจะได้สว.อยู่ในมือเขากี่คน และใช้เงินทุนน้อยมาก หรือถ้ามีผู้สมัครทั่วประเทศ 200,000 คน คนที่ลงทุนแค่ 232 ล้านบาทก็อาจจะได้สว. 40-50 คน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งสส. บางคนแค่เขตเลือกตั้งเดียว ก็ใช้กันเป็นหลักร้อยล้านบาท
ไม่น่าเลือกสว. “ซับซ้อน” มากขนาดนี้
“ต้องดูหน้าตาของสว.ชุดใหม่ 200 คนออกมาก่อน แล้วจะมีคำตอบว่าควรให้มีการเลือกสว. ที่สลับซับซ้อนมากแบบนี้ต่อไปอีกหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะซับซ้อนมากขนาดนี้ อันที่จริงสว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ก็ใช้ได้นะ แค่ต้องปรับเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครสว. ให้ห่างออกมาจากสส. และกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แตกต่างจากสส.อย่างชัดเจน แล้วมาใช้ระบบการเลือกตั้งที่ให้ประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้สมัครเลือกกันเอง น่าจะเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า” ดร.สติธร กล่าว