ปีนี้ถือเป็น วาระครบรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ทหารรักษาสันติภาพของยูเอ็นประจำการบนพื้นที่แห่งนี้, วาระครบรอบ 50 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอเธนส์ ซึ่งมีเป้าหมายรวมไซปรัสกับกรีซ ก่อให้เกิดการรุกรานของตุรกี และวาระครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่การลงประชามติว่า ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีก ปฏิเสธแผนการรวมประเทศของยูเอ็น
“คุณมีกองกำลังรักษาสันติภาพบนเกาะพักผ่อน ซึ่งมันเป็นความไม่เข้ากันที่แปลกประหลาดมาก และทำให้เกิดคำถาม เกี่ยวกับกองกำลังรักษาสันติภาพในไซปรัส (ยูเอ็นเอฟไอซีวายพี) รวมถึงคำสั่งระยะยาวของพวกเขา” นายเจมส์ เคอร์-ลินด์เซย์ ศาสตราจารย์รับเชิญจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน และผู้สันทัดกรณีด้านไซปรัส กล่าว
อีกด้านหนึ่ง นายอาลีม ซิดดิก โฆษกของยูเอ็นเอฟไอซีวายพี กล่าวว่า ยูเอ็นตั้งใจมาที่นี่เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพที่มีอยู่ และจากไป อีกทั้งการประจำการอย่างต่อเนื่องนาน 60 ปี ยังเน้นย้ำถึงความจริงที่ว่า ยูเอ็นยังคงต้องการวิธีแก้ไขปัญหาของไซปรัส
ทั้งนี้ ไซปรัส ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายกรีก และประชากรเชื้อสายตุรกีเป็นส่วนน้อย ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2503 ภายใต้เงื่อนไขห้ามแบ่งแยก และรวมตัวกับกรีซหรือตุรกี ทว่ารัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นอย่างประณีตของไซปรัส กลับตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดระหว่างชุมชน จนข้อพิพาทดังกล่าวทำให้เกิดความรุนแรง เมื่อเดือน ธ.ค. 2506
ต่อมา ชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกีได้ถอยเข้าไปในพื้นที่ปิดล้อม และกรุงนิโคเซีย ก็ถูกแบ่งออกโดยสิ่งที่เรียกว่า เส้นสีเขียว หรือ กรีนไลน์ (Green Line) จากนั้นกองกำลังของสหราชอาณาจักร จึงเดินทางมาที่ไซปรัสอย่างรวดเร็ว เพื่อพยายามฟื้นฟูสันติภาพ แต่รัฐบาลลอนดอนก็ไม่สบายใจเรื่องค่าใช้จ่าย และแนวโน้มของการเป็นภารกิจระยะยาว
กระทั่งเดือน ม.ค. 2507 ยูเอ็นเอฟไอซีวายพี ได้รับการก่อตั้ง และดำเนินการในไซปรัสตั้งแต่นั้น โดยมีสหราชอาณาจักรเป็นผู้มีส่วนร่วมมาตลอด ซึ่งการรุกรานของตุรกีในปี 2517 ช่วยให้ชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกีสามารถออกจากพื้นที่ปิดล้อม และแบ่งเกาะออกเป็น 2 ส่วน
อย่างไรก็ตาม ความยาวนานของภารกิจ และความหวังอันริบหรี่ของการแก้ปัญหา ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ต่อเนื่อง ซึ่งซิดดิก กล่าวว่า แม้ยูเอ็นเอฟไอซีวายพี สามารถยืนหยัดได้ แต่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป และเผชิญกับความท้าทายจากทั้งสองฝ่าย
“ดังนั้น พวกเราจึงหวังว่า สิ่งนี้จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกลับสู่โต๊ะเจรจา และการสร้างข้อตกลงที่ยั่งยืน ซึ่งจะปูทางไปสู่การถอนกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็น” ซิดดิก กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP