ล่าสุดคือ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำเสื้อแดงได้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญาใหม่ คือให้ประชาชนฟ้องตรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดคดีรกศาลขึ้นมาทันที นักการเมืองคนนึงโดนโจทก์หลายคนฟ้องคดีเดียวกัน ดังนั้น ที่เหมาะสมกว่าคือ ป.ป.ช.นั่นแหละเป็นผู้รวบรวมหลักฐาน ตรวจสอบ วินิจฉัยคดี ก่อนส่งให้อัยการ ถ้าอัยการมีความเห็นแย้ง ป.ป.ช.ก็ฟ้องเองได้

(ซึ่งก็น่าจะพูดกันเสียหน่อยตรงบรรทัดนี้ว่า คดี ม.112 ก็ควรจะใช้แนวคิดเดียวกัน คือไม่ใช่ใครไปฟ้องก็ได้ เพราะสุดท้ายเมื่อกฎหมายข้อนี้ถูกนำมาใช้เล่นงานกันทางการเมือง ก็จะเป็นการดึงสถาบันฯ ลงมามัวหมอง อยากให้ใครมีความกล้าเสนอแก้ไขมาตรานี้ ไม่ต้องไปสนใจศาลรัฐธรรมนูญมาก ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรรคก้าวไกลขัดรัฐธรรมนูญ ม.49 หรือไม่ นั่นคือการเคลื่อนไหวอยู่นอกสภา แต่ในกลไกรัฐสภา กลไกนิติบัญญัติ ควรจะแก้ ถึงไม่คิดจะลดโทษ ก็ต้องแก้ว่าไม่ใช่ให้ใครฟ้องก็ได้ เพื่อ..กลับไปสู่คำเดิม อย่าใช้กฎหมายเล่นการเมืองทำให้สถาบันฯมัวหมอง)

ผลจากการสลายม็อบเสื้อแดง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ยุบสภาทันที แต่มีการตั้งคณะกรรมการอะไรไม่รู้ขึ้นมา 3 ชุด เพื่อปฏิรูปการเมือง ..จริงๆ ถ้าให้สืบค้นชื่อมันก็ไม่ยาก แต่เบื่อกับการที่บ้านเราพอมีปัญหาก็ตั้งคณะกรรมการอะไรมาพูดคุยหาทางออกกันทีนึง แล้วก็โยนผลศึกษาใส่ลิ้นชัก ..ในสมัยรัฐบาลทักษิณก็เคยทำ ตรวจสอบกรณีเหตุสลายการชุมนุมที่ตากใบ และหาแนวทางปรองดอง แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น..ล่าสุดนี่เป็นที่สะใจอยู่นิดๆ เมื่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ตั้งขึ้น จะไป “ขอความเห็น”จากพวกนักสันติวิธี หนึ่งในนั้นคือนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) แต่โดนตอกกลับมาแค่ “ให้ไปอ่านรายงาน คอป.”

ในช่วงนั้นเองคือรัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามเร่งทำคะแนน ในขณะที่นายทักษิณหายเงียบไปพักหนึ่ง ปล่อยให้แกนนำคนเสื้อแดงติดคุกบ้าง หนีออกนอกประเทศบ้าง จนกระทั่งก่อนประกาศยุบสภา มีการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่น่าจะเรียกได้ว่า “ครม.ประวัติศาสตร์” คือ เลิกเที่ยงคืนกว่า วาระเต็มไปหมด จากนั้นจึงยุบสภา ..ซึ่ง “ว่ากันว่า”สาเหตุที่ต้องยุบหลังจากเกิดเหตุเสื้อแดงเป็นปี ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์รอทำโพลก่อนว่าจะต้องชนะ ( แน่นอน ว่า ขณะนั้นต้องมีการประกอบสร้างภาพคนเสื้อแดงเป็นผู้ร้ายเผาเมือง )  ซึ่งเมื่อกระแสในโพลออกมาดี เลยตัดสินใจยุบสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญขณะนั้น ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคอันดับหนึ่งจะเป็นนายกฯ

ก็มีการเก็งกันไปต่างๆ นานา ในช่วงแรกว่าเพื่อไทยจะเสนอใคร ปรากฏว่า หวยออกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตรเอง ..เสียงลือเสียงเล่าอ้างขณะนั้นคือ “ไม่เอาคนนอกตระกูลแล้วเพราะควบคุมยาก”  น.ส.ยิ่งลักษณ์เองก็ไม่ประสาทางการเมืองเท่าไร แต่อาศัยความเป็น“ชินวัตร” ก็ได้รับความนิยม อย่างที่บางประเทศเป็น ว่า ผู้นำคนไหนที่ประชาชนรัก ชื่นชอบ ส่งทายาทมาพร้อมเลือก หรือไม่ก็ตระกูลการเมืองนั้นวางสายสนกลในไว้พอสมควรแล้วในการจะดันทายาทตัวเองขึ้นมา อย่างตระกูลมาร์กอสของฟิลิปปินส์ หรือคานธี ของอินเดีย..ตอนหาเสียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ดูไม่ใช่คนพูดเก่งด้วยซ้ำ และต่อมาในการเป็นนายกฯ ก็เรียกว่า เป็นนายกฯ ที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ ถามก็ตอบสั้นๆ หรือไม่ก็บอกว่า “เรื่อง…ได้มอบหมาย….ไปดูแลแล้วค่ะ” นัยว่าไปถามคนนั้นเอง

คาดว่ากระแสเกลียดพรรคประชาธิปัตย์จากเหตุการณ์เสื้อแดงไม่จาง โดยเฉพาะทางภาคอีสาน คราวนี้หาเสียงกันโต้งๆ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”  ผลเลือกตั้งก็อย่างที่ทราบกัน คือพรรคเพื่อไทยกลับมาชนะอีก การหาเสียงของเพื่อไทยมันมีลักษณะเป็น motto คำจำง่ายๆ อย่างเช่น จำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท , เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท , แทบเลตฟรี อะไรพวกนี้..จะว่าที่จำได้ เพราะน่าจะว่ามันมีตัวเลขกำกับเลย ว่ากี่บาท หรือฟรี ขณะที่ถ้าให้พูดนโยบายพรรคอื่น สมมุติ พลังประชารัฐ ( พปชร.) “แปลงที่ สปก.เป็นทุน” มันก็ต้องมาตีความกันอีกว่า ใครมีสิทธิ์ได้ และมีรายละเอียดหยุมหยิมอะไรหรือไม่ เช่น ห้ามขาย ห้ามใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการเกษตรกรรม หรือเอาของพรรคประชาธิปัตย์ “ประกันรายได้” คำนี้ยิ่งกว้างครอบจักรวาล ..หาเสียงแบบเพื่อไทยเข้าใจง่าย บอกตัวเลขเลย จ่ายเท่าไร อะไรฟรี

ในสมัยรัฐบาลปู ทักษิณกลับมามีบทบาทอีกครั้ง โดยการสไกป์คุยกับกลุ่มแฟนคลับเรื่อยๆ ขณะที่ม็อบต้านรัฐบาลในช่วงแรก ด้วยเหตุผลว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ที่จัดที่สนามม้านางเลิ้งจุดกระแสไม่ติด ต่อมา ทักษิณประกาศ “จะกลับบ้านอย่างเท่ๆ” ซึ่งเขาก็งงกันว่าจะกลับมาเท่ได้อย่างไร เมื่อตอนนั้นหนีออกนอกประเทศตอนคดีที่ดินรัชดาพิพากษาแล้ว แถมมีคดีอื่นติดอยู่

แล้วการ “กลับบ้านแบบเท่ๆ” ก็ทำให้เกิดสึนามิทางการเมือง เมื่อมีการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร พ.ศ….โดยนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.เพื่อไทย หรืออย่างที่เรียกว่า พ.ร.บ.สุดซอย คือใครได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและความขัดแย้งทางการเมืองจะมีการนิรโทษกรรมให้ทั้งหมด ด้วยเหตุผลของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาขณะนั้น บอกว่า “คนอยู่ในคุกเขารอไม่ได้” นั่นคือกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ที่เผาศาลากลางจังหวัดบ้าง เสื้อแดงสร้างความรุนแรงที่ราชประสงค์และคอกวัวบ้าง

พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงโดยการวอล์คเอาท์ เพราะทัดทานรัฐบาลไม่สำเร็จ แล้วก็พิจารณากันไปรายมาตรา จนกฎหมายเสร็จราว 03.00 น. ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปลุกม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาครั้งแรก..ถ้าจำไม่ผิดน่าจะตรงสถานีรถไฟสามเสน โดยอ้างว่า เป็นกฎหมายเอื้อให้คนโกงชาติ โกงแผ่นดินไม่ต้องรับโทษ ซึ่งผิดหลักจริยธรรม ( ตัวนายสุเทพเองขณะนั้นอ้างว่า หากต้องรับผิดชอบในคดีสังหารเสื้อแดงเขาก็พร้อมจะสู้คดี )

กระแสต้านโกงคงจะตรงจริตชนชั้นกลางในเมือง ก็เลยเกิดปรากฏการณ์ “ลุงกำนันฟีเวอร์” ม็อบ กปปส.ชุมนุมจนเต็มลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการประดิษฐ์คำ “มวลมหาประชาชน”ขึ้นมาใช้ จากนั้นก็มีหลายกลุ่มอาชีพ แม้แต่ข้าราชการระดับสูงออกมาร่วมเคลื่อนไหว ..รัฐบาลขณะนั้นแก้ปัญหาโดยการพยายามถอย ( ซึ่งต้องยอมรับว่า กปปส.ในขณะนั้นแรงมาก เพราะเป็นม็อบมีหัว คือมีแกนนำที่ชัดเจน ไม่ใช่ม็อบหัวแตกแบบม็อบเยาวชนสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ) น.ส.ยิ่งลักษณ์เรียกได้ว่า โดนอ่วม ศาลปกครองตัดสินเรื่องการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) โดยมิชอบ เนื่องจากเป็นการย้ายสลับเก้าอี้ไปมาเหมือนจะมีจุดมุ่งหมายให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยาทักษิณ มาเป็น ผบ.ตร. ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นสภาพนายกฯ

คำว่า “ยอมถอย” มีมาตั้งแต่ตอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายกฯ เช่นว่า กปปส.บอกจะปฏิรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโดยอาศัยคำสั่งสำนักนายกฯ ..กปปส.ไม่เอา แม้ว่านายกฯจะบอกซ้ำแค่ไหนก็ตามว่า “มันไม่มีกฎหมายมารับรองให้ กปปส.มีอำนาจได้” พอยุบสภาก็ขวางการเลือกตั้ง กปปส.ชุมนุมยืดเยื้อปิดถนนสายหลักหลายสาย  จนในที่สุด สภาก็ไม่มีเพราะนายกฯ ยุบไปแล้ว นายกฯ ก็ไม่มีเพราะโดนศาลสั่งตัดสิทธิ์ไปแล้ว ก็กลายเป็นช่องว่างให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.ขณะนั้น เข้ามายึดอำนาจ ..แม้บิ๊กตู่จะบอกแค่ไหนก็ตามว่าไม่ใช่การยึดอำนาจ แต่ก็ฟังไม่ค่อยจะขึ้น เพราะถ้าไม่ยึด ทหารก็ควรมีส่วนสร้างประชาธิปไตยให้การเลือกตั้งมันเดินหน้าอีกครั้งได้

พอออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วเก็บคะแนนบัตรดีของผู้สมัครที่ไม่ชนะ ไปคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ( ซึ่งว่ากันว่า ก็ด้วยวิธีคิดของทักษิณนั่นแหละ ) ก็ใช้วิธีแตกแบงค์พัน คือมีพรรคพี่น้อง บุคลิกลักษณะถ้าให้ประเมิน เพื่อไทยคือเก็บต่างจังหวัด ไทยรักษาชาติ ( ทษช.) คือเก็บคะแนนคนรุ่นใหม่ คนเมือง เพื่อชาติ ( พช.) คือเก็บคะแนนเสื้อแดง และประชาชาติ ( ปช.) คือเก็บคะแนนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ..แต่ต่อมา พรรคไทยรักษาชาติก็มีอันเป็นไปตามที่หลายคนคงทราบเหตุผล กติกาใหม่ทำให้เพื่อไทยได้จำนวน สส.เกินจำนวน สส.พึงมี เลยได้แต่ สส.เขต หลังเลือกตั้ง พปชร.รวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลแบบปริ่มน้ำได้ ทักษิณแสดงบทบาทมากขึ้นโดยการจัดรายการคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ วิพากษ์วิจารณ์บิ๊กตู่เรื่อยๆ ..ขณะที่งานสภา วิปรัฐบาลไร้น้ำยาเพราะสภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า

จนใกล้เลือกตั้ง ก็ประกาศว่า แก่แล้ว อยากกลับมาอยู่เมืองไทย มีหลานเจ็ดคนก็พร้อมจะมารับโทษ แล้วก็ส่งลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย สร้างภาพความเป็นครอบครัวเพื่อดึงเอาฐานเสียงเสื้อแดงกลับมา จากที่เดิมพรรคอนาคตใหม่เลือกตั้งครั้งแรกได้จำนวน สส.เยอะจนผิดคาด ..ซึ่งน่าจะเป็นเพราะคนต้องการความเปลี่ยนแปลง เบื่อกับวลี เอาหรือไม่เอาทักษิณ..เบื่อกับคำจำพวก “ไม่เลือกเราเขามาแน่”  ..ผลจากการตัดสิทธิ์นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และการยุบพรรคอนาคตใหม่เรื่องเงินยืมหรือเงินบริจาค ทำให้ยิ่งเกิดกระแส “ไม่เอากลุ่มอำนาจปัจจุบัน ต้องการคนรุ่นใหม่มาเปลี่ยนแปลง” แม้เพื่อไทยจะงัดทั้งทักษิณ ทั้งอุ๊งอิ๊ง ทั้งเงินดิจิทัลหมื่นบาทมาขาย

กลายเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทย จนมาเพื่อไทยที่กลุ่มทักษิณแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ใช้วิธีเดียวกับ พปชร. ตอนตั้งรัฐบาลตู่ คือ ไปรวมเสียงกับพรรคอื่นให้ตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกับเอาเสียง สว.สู้  ซึ่งในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก คนที่ออกอาการรุนแรงสุดคือนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่เอา “พรรคล้มเจ้า” ที่สนับสนุนขบวนการก้าวล่วงสถาบัน ..ว่ากันว่า การแสดงอาการแบบนี้แหละคือ “ทางลง”ให้ สว.ไม่ต้องทำตามฉันทามติประชาชนคือต้องเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะอ้างได้ว่า “เพื่อปกป้องสถาบันฯ”

แล้วก็เกิดการผสมพันธุ์ข้ามขั้วขึ้นจนได้ เมื่อเพื่อไทยรวมเสียงโดยไปรวมกับพลังประชารัฐ ( ที่มีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า ) กับรวมไทยสร้างชาติ ( ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ) ทำให้มวลชนที่เคยสนับสนุนเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยหมดศรัทธา ว่า “อยากเป็นรัฐบาลเพื่อช่วยทักษิณกลับบ้านขนาดยอมทุกอย่างเช่นนี้เลยหรือ” เกิดวาทกรรมประเภทนางแบก ( ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ) ติ่งส้ม ( ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ) สองอันนี้พอเข้าใจง่าย แต่พอมาสลิ่มเฟส 1 เฟส 2 นี่ก็ชักจะงงๆ เฟส 1 น่าจะไม่เอาทักษิณ แต่เฟส 2 นี่อารมณ์ประมาณไหน ? แบบย้ายค่ายหรือเปล่า ประเภทกลับไปสนับสนุนทักษิณทั้งที่เคยออกมาเป็น กปปส.เย้วๆ ไล่ทักษิณ เนื่องจากไม่ชอบก้าวไกล

แล้วในที่สุด 22 ส.ค.66 นายทักษิณก็เดินทางกลับมา ล่าช้าจากที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากเจ้าตัวอ้างว่าต้องตรวจสุขภาพก่อนที่ดูไบกับที่สิงคโปร์ ปรากฏว่า ไอ้ที่โพสต์ยิ้มร่าแข็งแรงขึ้นเครื่องบิน เข้าเรือนจำได้ไม่กี่ชั่วโมงแน่นหน้าอกต้องไปนอนโรงพยาบาลตำรวจโดยไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นโรคอะไรแน่ชัด แต่ทุกคนทายตรงกันหมดว่า 18 ก.พ.ถึงระยะเวลาพักโทษได้เนื่องจากแก่ หรือป่วย เดี๋ยวก็ออกมาเองแหละ ..แล้วก็..ซื้อหวยทำไมไม่ถูกอย่างนี้บ้าง ทักษิณออกจาก รพ.ตำรวจจริงๆ ในช่วงหัวรุ่ง ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ไม่ใช่สภาพคนป่วยติดเตียงหกเดือน ..ผลจากการที่นายทักษิณออกจาก รพ.ทำให้มีการจับตาทันทีว่า “หัวของขั้วอำนาจ”ตัวจริงจะสั่งการมาจากบ้านจันทร์ส่องหล้า แทนบ้านนรสิงห์หรือไม่

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงที่มีทักษิณ ชินวัตรอยู่ ช่วงแรกเป็นประวัติที่หลายคนอยากได้ คือ บ้านเมืองสงบสุข รัฐสวัสดิการดี ทุกคนคาดหวังกับสิ่งที่ทักษิณพูด คือ 4 ปีแรกของรัฐบาลเป็น “ 4 ปีซ่อม” แก้ปัญหาของประเทศ และอีกสมัยที่ได้ สส.377 คนคือ “4 ปีสร้าง คือการพัฒนาอะไรต่างๆ ให้เจริญมากขึ้น” แต่น่าเสียดายที่ในยุค 4 ปีสร้าง กลายเป็นเริ่มต้นความขัดแย้งที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไรในสังคมไทย สมัยหน้า พรรคเพื่อไทยก็ต้องสู้ยิบตาเพื่อคงอำนาจให้ได้ แต่กระแสทักษิณในด้านบวก กับกระแสผู้ป่วยเทวดา เมื่อมาชนกันก็ไม่ทราบจะเป็นคุณหรือโทษกับพรรค ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ไม่ถอยเช่นกัน อาศัยกระแส “คนเท่ากัน” “การสร้างความเปลี่ยนแปลง” “พัฒนารัฐสวัสดิการครอบคลุม”

ถ้ามีความพยายามจะยุบพรรคก้าวไกล ก็คงจะประเมินกันได้ไม่ยากว่า ไปตั้งพรรคใหม่ แกนนำรุ่นต่อไป เอาสีส้มติดตัวไป ก็ยังดึงกระแสโหวตเตอร์รุ่น 18-40 ปีได้มาก และปัจจุบันโหวตเตอร์ในเมืองมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงด้วย เลือกตั้งที่จะถึงนี้ เผลอๆ ทางเพื่อไทยพยายามยื้อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะ สว.เฉพาะกาลก็หมดอายุแล้ว แต่ที่สำคัญคือ การรวมเสียงหลังเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาล ..จากการที่ถูกพรรคก้าวไกลรวบหัวรวบหางจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จแล้วเพื่อไทยไปผสมพันธุ์ข้ามขั้ว จนถูกกล่าวหาตระบัดสัตย์ เสียคะแนนพอสมควร ทำให้ขณะนี้ภาพที่ออกมาคือ เพื่อไทยคือฝั่งขวา หรืออาจเรียกว่า “การเมืองแบบเดิมๆ”ก็ได้ และก้าวไกลคือฝั่งซ้าย หรืออาจเรียกว่า “การเมืองแบบใหม่”

น่าสนใจว่า ชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นตัวแปรทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกหรือไม่ ..แต่จะว่าไป นี่คือนายกฯพลเรือนที่มีสีสันที่สุดในประเทศไทย.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่