ในห้องปฏิบัติการอันแวววาวของนายสมิต ปาเตล ช่างเทคนิคจะหย่อนเศษเล็ก ๆ “เมล็ดเพชรคริสตัล” ลงในเครื่องปฏิกรณ์ที่เลียนแบบแรงดันมหาศาลใต้พื้นดิน ซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซที่มีคาร์บอน เช่น มีเทน และคริสตัลจะเติบโตภายใต้ความร้อนและความดัน โดยพวกเขาใช้เวลาไม่ถึง 8 สัปดาห์ ในการผลิตเพชรที่แทบไม่แตกต่างจากอัญมณีที่ขุดได้ จากนั้นเพชรหยาบจะถูกส่งไปยังโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนงานหลายร้อยคนทำการออกแบบ, เจียระไน และขัดเงา
“เมื่อลูกค้าได้เห็นกับตาของตัวเอง พวกเขาก็รู้สึกสนใจ และผมเชื่อว่า นี่คืออนาคต” ปาเตล ผู้อำนวยการของ “กรีนแล็บ ไดอะมอนด์ส” กล่าว
ตามข้อมูลล่าสุดของอุตสาหกรรมเพชร การส่งออกเพชรสังเคราะห์จากอินเดีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสามเท่า ระหว่างปี 2562-2565 ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 25% ระหว่างเดือน เม.ย. – ต.ค. ปีที่แล้ว จากเดิมที่ 15% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ด้านนายพอล ซิมนิสกี นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก ตามมูลค่าของอัญมณีจากห้องแล็บ พุ่งขึ้นจาก 3.5% เมื่อปี 2561 เป็น 18% ในปี 2566 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเกิน 20% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นได้เพิ่มแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมที่เผชิญกับความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ และอุปสงค์ตกต่ำอยู่แล้ว
อนึ่ง คำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม ช่วยทำให้อัญมณีสังเคราะห์เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับแหวนหมั้น สอดคล้องกับที่นายเอดาห์น โกแลน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอีกคนหนึ่ง ระบุว่า ในเดือน ก.พ. 2566 แหวนหมั้นเพชรร้อยละ 17 ที่จำหน่ายในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้บริโภคหินธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ใช้อัญมณีที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ
ตามข้อมูลจากสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย (จีเจอีพีซี) ผู้ผลิตเพชรในห้องแล็บของประเทศ ส่งออกเพชร 4.04 ล้านกะรัต ระหว่างเดือน เม.ย. – ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทเพชรธรรมชาติหลายแห่งในอินเดีย รายงานว่า การส่งออกเพชรของพวกเขา ลดลงมากกว่า 25% เหลือ 11.3 ล้านกะรัต ในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้ยอดขายเพชรธรรมชาติในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้ซื้อที่ร่ำรวยพยายามเพิ่มความสดใสในเศรษฐกิจช่วงล็อกดาวน์ ด้วยการซื้อของฟุ่มเฟือย ทว่าอุปสงค์ดังกล่าวลดลง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นแบบเปิดอีกครั้ง และบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ปล่อยให้มีเพชรราคาแพงจำนวนมากอยู่ในสต๊อก.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP