เป็นชุมชนบนเกาะเล็ก ๆ ในอ่าวบ้านดอน ห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียง 500 เมตรเท่านั้น มีเนื้อที่ทั้งเกาะเพียง 58,312 ตร.ม. มีประชากรราว 380 คน เท่านั้น ถูกค้นพบจากชาวจีนจากเกาะไหหลำกลุ่มหนึ่งประมาณ 60 คน ขณะล่องเรืออพยพเข้ามาในประเทศไทย และพบว่าเกาะแห่งนี้มีสภาพคล้ายบ้านเกิดที่ประเทศจีน จึงตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และยึดอาชีพการประมงทั้งหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน และเรียกเกาะแห่งนี้ว่า ฮีเด้ง ที่หมายถึงตะเกียงสวรรค์ ขณะที่ชาวไทยดั้งเดิมแถบนี้จะเรียกว่า เกาะแรด เนื่องจากทั้งพื้นที่เต็มไปด้วยต้นขี้แรด แต่เพราะด้วยชื่อเดิมเขียนเหมือนชื่อสัตว์ ชาวเกาะฮีเด้ง จึงขอให้ใช้ ต.เต่า สะกดแทน ด.เด็ก และกลายเป็น เกาะแรต ชื่อที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว

รุ่งวิไล สุรพันธ์ หรือเจ๊หญิง เจ้าของร้านอาหารโรงเตี๊ยม ณ เกาะแรต วัย 58 ปี บอกกับเราว่า ก่อนหน้านี้เป็นเจ้าของบริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง และปรับปรุงบ้านที่พักของบรรพบุรุษ ตั้งแต่สมัยอากง อาม่า เป็นโฮมสเตย์ บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาพักและเยี่ยมชมวิถีของชาวจีนไหหลำบนเกาะ ซึ่งกิจกรรมสำคัญที่เราจัดให้บริการนักท่องเที่ยว จะเน้นในรูปแบบวิถีชีวิต ตั้งแต่การออกไปหาสัตว์ทะเล แล้วนำมาประกอบอาหารรับประทานแบบชาวจีนไหหลำ จนไปถึงการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อนำออกไปจำหน่ายนอกชุมชน

หมูเนา หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อ หมูเน่า เป็นหนึ่งในเมนูโบราณของชาวจีนไหหลำบนเกาะแรต ที่ได้รับความนิยม ซึ่งเจ๊หญิงเล่าว่า บรรพบุรุษชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่เกาะแรต นอกจากจะทำการประมงเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงหมูกันทุกครัวเรือน ดังนั้นวัตถุดิบในการปรุงอาหารสมัยโบราณ นอกจากสัตว์ทะเลแล้ว เนื้อหมูก็เป็นอีกวัตถุดิบที่หาได้ง่ายบนเกาะ คำว่าเนา เป็นภาษาจีน ที่หมายถึงการหมัก แล้วนำไปตุ๋น หรือต้ม แต่หมูเนาของเกาะแรต จะมีความแตกต่างจากหมูตุ๋น หรือต้มจากที่อื่น ด้วยกรรมวิธีการหมักหมู 3 ชั้น กับสมุนไพรมากกว่า 20 ชนิด แล้วใช้การตุ๋นด้วยเตาถ่านอย่างน้อย 2-3 วัน หรือมากกว่า 48 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้เนื้อหมูที่ปรุงเสร็จ จะมีความนุ่มและความหอมแตกต่างไปจากที่อื่น เมื่อกินกับนํ้าจิ้มซีฟู้ด ยิ่งเพิ่มความกลมกล่อมไปอีกระดับ แต่เดิมชาวเกาะแรตจะทำหมูเนา เฉพาะในเทศกาล หรืองานฉลองที่สำคัญ ๆ เท่านั้น เมื่อทำแล้วจะนำออกไปแจกจ่ายให้กับญาติ ๆ หรือผู้ที่เคารพนับถือนอกพื้นที่เกาะ จนได้รับขนานนามว่าเป็นอาหารเลิศรสจากเกาะแรต จนเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และเรียกเพี้ยนไปชื่อ หมูเน่า

อีกหนึ่งเมนูที่เป็นที่โปรดปรานของบรรดานักชิม ที่จะต้องเรียกหาทุกครั้ง คือ ต้มส้ม หรือต้มโห้ ที่เชื่อว่าเป็นคำเพี้ยนมาจาก โห้จะ ที่หมายถึงกินอร่อย แม้จะเป็นแกงที่ทำได้ง่าย ด้วยเครื่องปรุงเพียง 2 อย่าง คือ นํ้ามะขามเปียกกับเกลือ แต่รสชาติกลมกล่อมลงตัวเป็นอย่างดี หอมด้วยกลิ่นกระเทียมเจียวและใบกะเพรา จุดเด่นของต้มส้มสูตรโบราณหม้อนี้ คือความหวานจากบรรดากุ้ง หอย ปู ปลา สด ๆ ที่คนจีนไหหลำ ใช้ปรุงอาหารแบบเร่งด่วนให้ลูกหลาน โดยหลังจากกลับมาจากทำการประมง ก็นำสัตว์ทะเล ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ที่จับมาได้ ลงไปผัดในกระทะนํ้ามันที่เจียวกระเทียมรอไว้ เมื่อสุกได้ที่แล้วจึงเติมนํ้า ปรุงรสด้วยเกลือและนํ้ามะขามเปียก ก่อนจะยกลงจากเตา ก็ใส่ใบกะเพราลงไป จะได้รสชาติที่มีความเปรี้ยวปนหวานจากนํ้ามะขามเปียก ตัดด้วยความเค็มจากเกลือ และรสหวานจากเนื้ออาหารทะเลสด ๆ

ส่วนอีกจานก็คือ ปลามุ้น เป็นอีกจานอาหารที่ปรุงได้ง่าย กับวัตถุดิบง่าย ๆ เจ๊หญิง เล่าถึงที่มาของอาหารจานนี้ว่า เป็นอีกเมนูฝีมือการปรุงของเตี่ย ที่เป็นจานด่วนจานโปรดของลูก ๆ ซึ่งวิธีการปรุงก็ทำแบบง่าย ๆ ด้วยการนำปลามาหั่นเป็นชิ้นพอประมาณ แล้วนำไปหมักด้วยเต้าเจี้ยวและซอสแดงโบราณ ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที หรือจนกว่าเนื้อปลาจะดูดนํ้าซอสเข้าไปจนฉํ่า จากนั้นจึงนำลงไปผัดในกระทะ จนเนื้อปลาสุกได้ที่ อาหารจานนี้จะได้ความเปรี้ยวจากนํ้าซอสแดง ความเค็มจากเต้าเจี้ยว และความหวานของเนื้อปลาสด เมื่อมาเป็นเมนูบนโต๊ะ ทางร้านจึงเลือกใช้เฉพาะปลาเก๋า ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ และมีจุดเด่นที่สด ทำให้ได้รสชาติความหวานของเนื้อปลา

นอกจากเมนูแนะนำแล้ว ร้านอาหารโรงเตี๊ยม ณ เกาะแรต ยังมีเมนูอาหารทะเลสด ๆ และอาหารพื้นถิ่นภาคใต้อีกมากมายให้เลือกลิ้มลอง อาทิ แกงส้มปลาเก๋าผักออดิบ หมึกไข่ผัดหวาน ต้มกะทิปลาหมึก หรือกุ้งแชบ๊วยตัวโต ๆ ปูม้าตัวสด ๆ ที่เลือกปรุงได้หลากหลายเมนู จะต้มยำทำแกงขอให้บอก เจ๊หญิงจัดให้

การเดินทางไปเกาะแรตไม่ได้ยุ่งยาก ถ้าออกจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอดอนสัก บนทางหลวงสาย 4142 หรือถนนไปท่าเรือเกาะเฟอร์รี่ ระยะทางประมาณ 24 กม. ก่อนถึงท่าเรือ จะมีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน เลี้ยวเข้าถนนซอยไปอีกประมาณ 1.5 กม. ก็จะเจอลานจอดรถ แอบบอกไว้ก่อนว่า บนเกาะแห่งนี้มีพื้นที่อันน้อยนิด จอดรถยนต์ได้ไม่เกิน 10 คัน แนะนำให้จอดรถไว้บนฝั่ง แล้วนั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้างข้ามสะพานที่ชาวบ้านบนเกาะมีไว้บริการรับส่ง หรือจะเดินรับลมระยะทาง 400 เมตรแบบชิลชิล ก็ไม่ผิดวิสัย หรือถ้าอยากไปนอนกินลม ชมวิถีชาวเกาะแรต ที่นี่ก็มีบริการโฮมสเตย์ให้เลือกหลายบรรยากาศ แต่ถ้าใครไปทานอาหารที่ร้านโรงเตี๊ยม ณ เกาะแรต แล้วแจ้งว่า ตามมาจาก เดลินิวส์ชวนชิม เจ้าของร้านใจดีลดค่าอาหารให้ 10 เปอร์เซ็นต์ จองโต๊ะ จองห้องพัก โทร. 08-9727-3494.

วรพล เพชรสุทธิ์/อรุณี วิทิพย์รอด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่