ก็กลายเป็น มี “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีแนวโน้มอาจจะฆ่าตัวตาย “หลากหลายมากขึ้น” ซึ่งจากการที่ความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายไม่ได้จำกัดวงเหมือนในอดีต…ก็ทำให้ “ไทยต้องใส่ใจ” เพื่อที่จะ “ลดปัญหา” เรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับ “ยุคที่ปัจจัยกระตุ้นมีอื้อ”…

ทั้งปัญหาส่วนตัว-ปัญหาจากงาน…

รวมถึงจากเรื่องการใช้สารเสพติด!!

เกี่ยวกับ “ปัญหาคนไทยฆ่าตัวตาย” ที่ยุคนี้ “มีกลุ่มเสี่ยงหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต” โดยพบแนวโน้มปัญหานี้ได้ในทุกกลุ่มอาชีพนั้น สำหรับ “มุมสะท้อน” เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีข้อมูลน่าสนใจจากทาง นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ที่ได้วิเคราะห์และได้สะท้อนต่อ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึงปัญหานี้ไว้ โดยระบุว่า… ฐานข้อมูลที่ไทยใช้เพื่อเก็บสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทย นั่นก็คือ…ฐานมรณบัตร ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะไม่ได้มีการระบุถึง “อาชีพของผู้ที่ฆ่าตัวตาย” เอาไว้โดยชัดเจน ดังนั้น จึงอาจจะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า…อาชีพไหนที่ฆ่าตัวตายเยอะมากที่สุด?

แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า… ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคนอาชีพใด ๆ ก็มีโอกาสจะ “ฆ่าตัวตาย” ได้ เพราะทุก ๆ อาชีพต่างก็มีสิทธิ “เผชิญภาวะเครียดมากขึ้น” ในสภาพสังคมยุคปัจจุบัน จากการที่ทุกคนจะต้อง “เจอแรงกดดันชีวิตเพิ่มขึ้น” และแม้ว่าจะไม่มีฐานข้อมูลชัด ๆ ที่จะจำแนกอาชีพที่ฆ่าตัวตายเยอะสุด แต่ก็สามารถที่จะระบุ “กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย” ได้… เริ่มจากกลุ่ม อาชีพรับราชการ เช่น ตำรวจ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานใต้แรงกดดันสูงแทบจะตลอดเวลา รวมถึงเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่อยู่ใกล้อุปกรณ์ที่ถูกใช้ในการก่อเหตุนี้มาก ซึ่งก็คืออาวุธปืนนั่นเอง

ต่อมาคือกลุ่ม อาชีพบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทาง นพ.ณัฐกร ระบุไว้ว่า… ก็เป็นอีกอาชีพที่มีความเสี่ยงเรื่องนี้ เพราะเป็นอาชีพที่การทำงานในแต่ละวันจะต้องพบความกดดันตลอด อีกทั้งอาชีพนี้ยังมีภาระงานที่ค่อนข้างสูง กับต้องมีความรับผิดชอบงานสูง ซึ่งจากภาระงานที่หนาแน่นมาก ๆ ก็อาจจะทำให้ได้พักผ่อนน้อย จึงง่ายที่จะทำให้สุขภาพเจ็บป่วยเสียเอง หรือบางคนด้วยการที่ต้องทำงานใต้ภาวะแรงกดดันตลอดเวลา ก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางด้านภาวะจิตใจและอารมณ์ จนมีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายสูงขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งสังคมไทยก็ต้องระวังอย่าให้ไปไกลถึงขั้นนั้น

กลุ่มอาชีพต่อมา อาชีพอื่น ๆ ที่ก็ควรเฝ้าระวังดูแล ได้แก่… อาชีพรับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร อาชีพค้าขาย เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคม แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องระวัง เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีรายได้และโอกาสน้อยกว่ากลุ่มอื่น ซึ่ง ถ้าช่วงใดยิ่งมีภาวะผันผวน คนกลุ่มนี้ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะคิดสั้นจบปัญหา โดยเฉพาะบางคนที่ดื่มสุรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการ ใช้สารเสพติด

ก็ยิ่งเสี่ยงทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย!!

กับประเด็น “ปัจจัยยึดโยงการฆ่าตัวตาย” นั้น ทาง นพ.ณัฐกร จำปาทอง ชี้ไว้ว่า… ที่เด่น ๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ครอบครัว หรือที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยนี้มักเป็นสาเหตุนำสู่การฆ่าตัวตายมากที่สุด, ปัจจัยด้านสุขภาพ-โรค อาทิ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความเจ็บปวดมาเป็นเวลานาน หรือบางคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต มีโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว ก็จะยิ่งง่ายต่อการนำไปสู่การคิดสั้นยุติชีวิต ขณะที่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รวมถึง ปัจจัยสารเสพติด ก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ “คิดสั้นได้ง่าย” ในฐานะเป็น “ปัจจัยกระตุ้น” นั่นเอง

ส่วนเรื่องการ “ป้องกัน-เฝ้าระวัง” นั้น ทางแหล่งข่าวท่านเดิมได้ระบุไว้ว่า…การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีสัญญาณเตือนที่สามารถสังเกตได้ โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งจะใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิดก็สามารถช่วยเหลือได้ ถ้าเข้าไปช่วยในช่วงเวลาที่คน ๆ นั้นยังมีความลังเลที่จะลงมือก่อเหตุ ซึ่งช่วงเวลานี้ถูกเรียกว่า… “ช่วงนาทีทอง” ที่ถ้าเข้าไปทันช่วงเวลานี้ ช่วงที่ยังรู้สึกลังเล ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือชีวิต หรือยุติเหตุการณ์ร้ายลักษณะนี้ได้ อย่างไรก็ดี “กุญแจ” ที่จะไขสู่ “โอกาสรอดชีวิต” ก็มักจะ “อยู่ที่คนใกล้ตัว” เป็นสำคัญ

หลาย ๆ เคส เกิดเพราะไม่เปิดโอกาสให้คนที่คิดฆ่าตัวตายได้ระบาย หรือได้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม ดังนั้นวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย ดีที่สุดคือใส่ใจรับฟัง ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ซึ่งถ้ามีคนที่ให้เขาเชื่อมต่อสัญญาณได้ โอกาสที่จะคิดสั้นก็เหลือน้อยลง” …เป็น “คำแนะนำ” จากทางคุณหมอณัฐกร เพื่อ “ปิดโอกาสคิดสั้น”

พร้อมทั้งมีการแนะแนวทาง “สกัดกั้นคิดสั้น” ในภาพรวมไว้ว่า… สิ่งที่ควรทำคือตั้งศูนย์ให้คำปรึกษากับอาชีพที่มีแรงกดดันสูง โดยหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาฆ่าตัวตายมักจะมีศูนย์ที่บริการในลักษณะนี้กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในชุมชน หรือที่ทำงาน เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การจะลดปัญหาเรื่องนี้ได้จะต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะคนที่จะฆ่าตัวตายมักมีปัญหาจากปัจจัยหลายอย่าง…มักจะไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องเดียว…

“จะลด-จะป้องกัน” กรณี “ฆ่าตัวตาย”

ในภาพรวม “ต้องบูรณาการร่วมกัน”

ถ้าทำได้ดี “การคิดสั้นก็จะลดลง”.