ซึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเซ็งแซ่นั้นคือเรื่อง “จำนวนครอบครอง” กรณี “ยาบ้า” หรือ “แอมเฟตามีน” ที่กลายเป็น “ดราม่า” และทำให้เกิดกระแสขึ้นถึงขั้นทำให้ #ยาบ้า 5 เม็ด ติดเทรนด์โซเชียล หลังจากในสังคมไทยเกิดปุจฉาอื้ออึงกรณี “ผู้ค้า?…หรือผู้เสพ?” จนร้อนถึงผู้เกี่ยวข้องที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ …นี่เป็นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ขณะที่…กรณี “การบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนในวันนี้ กรณีนี้ก็ “มีปุจฉา” ตามมาว่า… “สถานบำบัด-ระบบบำบัด” ที่ไทยมีขณะนี้ “จะรองรับได้ไหวมั้ย??” … อย่างไรก็ตาม กางดู “แผนบำบัดผู้ติดยาเสพติด ปี 2566” ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข ในแผนนี้ จัดแบ่งผู้รับการบำบัดไว้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว ให้ใช้การบำบัดในชุมชน, กลุ่มสีเหลือง ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก, กลุ่มสีแดง ให้บำบัดรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขป “แผนบำบัดรักษา” ให้กับ “ผู้ใช้สารเสพติด” ที่รวมถึง “ผู้ติดยาบ้า” ซึ่ง “กลุ่มสีเหลือง” นั้นก็ “น่าโฟกัส”…

กลุ่มสีเหลืองนี้ถูกจัดเป็นผู้ป่วยนอก…

เห็นว่าเป็นแบบที่ผู้บำบัดต้องการที่สุด

ที่ในอีกด้านก็จะลดปัญหาความแออัด

ทั้งนี้ กับ “การบำบัดผู้ติดสารเสพติดกลุ่มสีเหลือง” ด้วย “วิธีรักษาแบบผู้ป่วยนอก” นั้น หนึ่งในแนวทางน่าสนใจในวิธีนี้ก็คือ บำบัดรักษาด้วย “โปรแกรม” ที่มีชื่อเรียกว่า “Matrix Program” ซึ่งเป็นโปรแกรมการรักษาผู้ติดสารเสพติดกลุ่มกระตุ้นประสาท
แบบผู้ป่วยนอก ที่ ต่างจากเดิมที่เป็นการบำบัดรักษาด้วยยารักษาตามอาการ โดยหลังจากพบว่าวิธีบำบัดแบบใช้ยามีอัตราการกลับมา “ติดซ้ำ” อีกทั้งต้องบำบัดรักษานาน และมีภาระในเรื่องของค่าใช้จ่าย จึงทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาโปรแกรมใหม่ขึ้นมา โดยทาง ศูนย์ Matrix มหาวิทยาลัย UCLA สหรัฐอเมริกา เป็นผู้วิจัยและพัฒนาโปรแกรม…

มีการนำมาใช้บำบัดผู้ติดยาแพร่หลาย

รวมถึง “ใช้กับผู้ติดยาในไทย” เราด้วย

สำหรับรายละเอียดโดยสังเขปของ “Matrix Program” หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… เป็นกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่จะเน้นการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ (Cognitive Domain) ที่จำเป็นสำหรับผู้บำบัดและครอบครัว โดยจะสอดแทรกเข้าไปในระยะต่าง ๆ ของการบำบัดตลอดโปรแกรมการบำบัดรักษาเป็นเวลานาน 1 ปี ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้… ระยะที่ 1 Intensive Phase หรือ Intensive Outpatient Program (Matrix IOP) ซึ่งเป็นช่วงแรกของการบำบัดรักษาที่วิกฤติและสำคัญที่สุด…ว่าจะช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถเลิกใช้ยาเสพติดได้?-ไม่ได้? โดยระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน, ระยะที่ 2 After Care Program หรือ Supportive Phase ระยะนี้จะเป็นระยะการประคับประคอง โดยใช้เวลาราว 8 เดือนต่อจากระยะที่ 1 ซึ่งจะมีกิจกรรมที่สำคัญ 2 อย่าง คือ กลุ่มประคับประคองทางสังคม และกลุ่มประชุม 12 ขั้นตอน

ส่วน “องค์ประกอบ” ของ ’Matrix Program“ นั้น จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่… 1.การให้คำปรึกษารายบุคคล หรือการ
บำบัดร่วมกับครอบครัว (Individual Counseling or Conjoint Sessions)
โดยผู้บำบัด ผู้รับการบำบัด และครอบครัว จะได้พบกันเป็นครั้งแรก เพื่อทำความเข้าใจการบำบัด และทำข้อตกลงในการบำบัด, 2.กลุ่มฝึกทักษะการเลิกยาระยะต้น (Early Recovery Skill Group) ที่เป็นการเรียนรู้และฝึกทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการหยุดยา รวมทั้งสอนจัดตารางกิจกรรมประจำวัน และให้ข้อมูลแนะนำการเตรียมเข้ากลุ่มช่วยเหลือกันเอง, 3.กลุ่มป้องกันการกลับไปติดยาซ้ำ (Relapse Prevention Group) เป็นการเรียนรู้ร่วมกันถึงเหตุการณ์การกลับไปเสพซ้ำ เพื่อให้เข้าใจสัญญาณเตือนในการกลับไปเสพซ้ำ

4.กลุ่มครอบครัวศึกษา (Family Education Group) ทั้งผู้รับการบำบัดและครอบครัวจะได้เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการติดยา เส้นทางการเลิกยา การฟื้นสภาพกลับสู่ปกติ โดยขั้นตอนนี้ จะช่วยให้ผู้รับการบำบัดและครอบครัวมีทัศนคติที่ดีและมีแรงจูงใจในการเลิกยามากขึ้น และ 5.กลุ่มสนับสนุนทางสังคม (Social Support Group) ที่เป็นการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตในสังคมจากสมาชิกที่เลิกยาได้สำเร็จ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความมีสติในการดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้ยาเสพติด

นี่คือ “องค์ประกอบของโปรแกรม”…

ที่ “เน้นเลิกยา และไม่กลับไปเสพซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม “ผู้จะรับการบำบัด” ด้วยโปรแกรมนี้ “ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์” ดังนี้คือ… ไม่มีอาการทางยาเสพติดที่รุนแรง, ไม่มีอาการจิตเวชรุนแรง, เป็นผู้ป่วยที่แพทย์พบว่าอาการทางจิตทุเลาแล้ว จึงจะเข้ารับการบำบัดได้

ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นรายละเอียดโดยสังเขปจากข้อมูลที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้มีการเผยแพร่ไว้ผ่านทาง www.pmnidat.go.th …กับกรณี “Matrix Program” ที่ก็ “ต้องช่วยกันลุ้นสัมฤทธิผล“

โปรแกรมนี้ “ยึดโยงกรณียาบ้า 5 เม็ด”

ที่ต่อ ๆ ไป “น่าจะต้องรับบทหนักขึ้น”

กรณี “บำบัดผู้เสพ” ที่ก็ “มิใช่ง่าย ๆ”.