ทั้งนี้ ย้อนดูสถิติช่วงระหว่างปี 2561-2564 ซึ่งทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รวบรวมจากการที่ประชาชนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ก็พบว่า… อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุด คือ “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ซึ่งครองแชมป์ต่อเนื่องมาหลายปี…

กับการ “ด่าทอ-ให้ร้าย…ในออนไลน์”

ใจร้ายออนไลน์กลายเป็น “คดีความ”

และลงลึกที่ “เฮทสปีช-ใช้ข้อความสร้างความเกลียดชัง” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างผลกระทบให้คนจำนวนไม่น้อย ไม่เฉพาะบุคคลสาธารณะ หรือคนดัง หากแต่คนทั่วไปก็สามารถจะ “เกิดบาดแผล” จากการ “ถูกกลั่นแกล้งรังแก” ในลักษณะที่ยิ่งรุนแรงเช่นนี้ได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้นับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยที่ผู้คนทั่วไป “เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น” โดยปัญหานี้กำลังเป็นประเด็นที่หลาย ๆ ฝ่ายต้องให้ความสนใจ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับกรณีปัญหานี้ ผ่านเวที “ฮักบ่ Hate การสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง” ที่จัดขึ้นเพื่อ…

สะท้อน “ปัญหาที่เกิดเพราะเฮทสปีช”

ที่ “สังคมต้องตระหนักพิษภัย” เรื่องนี้

ทั้งนี้ เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา และผลกระทบที่มาจาก “เฮทสปีช” และการ “บูลลี่” เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกัน มาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย… วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, วาเนสซ่า ชไตน์เม็ทซ์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา…

บนเวทีนี้ได้มีการสะท้อนมุมมองต่อกรณีปัญหา “เฮทสปีช” รวมถึงการ “บูลลี่ในโลกไซเบอร์” ไว้น่าสนใจหลายประเด็น เริ่มจาก วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ระบุไว้ว่า… การส่งเสริมให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญในโลกสมัยใหม่ หลังพบความไม่ปลอดภัยของคนจำนวนมากจากภาษาหรือถ้อยคำที่ทำร้ายกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการ “สร้างความเกลียดชังด้วยภาษา” หรือที่เรียกว่า “ประทุษวาจา” ที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันคิดว่า…จะรณรงค์อย่างไรให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์ และ จะทำเช่นไรจึงจะลดปัญหาจากการใช้ภาษาสร้างความเกลียดชัง …นี่เป็นประเด็นชวนคิด

ชวนสังคมตั้งคำถามหาทางป้องกัน

ไม่ให้ “เฮทสปีช” ลุกลามไปมากขึ้น

ทางด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาฯ สะท้อนไว้ว่า… การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ “เฮทสปีช” นั้นน่าจะเป็น รูปแบบที่ “พัฒนามาจากไซเบอร์บูลลี่” ที่ไม่ใช่การรังแกแบบเดิม ๆ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยถ้ามองในเชิงวิชาการ “บูลลี่” ได้ถูกนิยามเอาไว้ว่า… หมายถึงการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ ทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบ ทางกาย วาจา หรือความรู้สึก โดยทำให้รู้สึกเสียใจ เจ็บใจ เศร้าใจ หรือทุกข์ทรมาน

ปัญหาบูลลี่นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ โดยหากไปถามเด็กและเยาวชนแล้ว กว่า 90% ระบุว่า… เคยเผชิญการถูกบูลลี่ ซึ่งผู้ใหญ่อาจจะมองว่า…เป็นแค่เรื่องของเด็กที่แกล้งกัน แต่หากลงลึกก็จะพบว่า… การกลั่นแกล้งในลักษณะนี้มีหลายรูปแบบ มีทั้ง… บูลลี่ทางกาย, บูลลี่ทางวาจา, บูลลี่ทางสังคม และบูลลี่ทางไซเบอร์ นอกจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป “บูลลี่” ก็ดูจะยิ่งยกระดับความรุนแรงจนเป็น “เฮทสปีช” ที่ปัจจัยทำให้มีเฮทสปีชเพิ่มขึ้นก็มาจากการขยายตัวของไซเบอร์บูลลี่

“ในแง่เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมีข้อค้นพบน่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะใช้เฮทสปีช หรือบูลลี่ โดยไม่รู้ตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพื้นที่สาธารณะให้แสดงออกหลายช่องทาง และอีกอย่างคนยุคใหม่มีแนวโน้มพฤติกรรมที่อยากแสดงพาวเวอร์หรืออำนาจตัวเองมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งก็ไม่รู้ว่าการทำเช่นนี้คือเฮทสปีช”

นี่เป็นมุมสะท้อนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ขณะที่ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ให้ข้อคิดเห็นต่อ “ปัญหาเฮทสปีช” ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ไว้ว่า… บางครั้ง “เฮทสปีช” ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นภาษาหยาบคาย แต่เป็นการใช้ในรูปแบบที่ “มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรง!!” และที่น่าสังเกตคือ…หลาย ๆ ครั้งพบว่า… ผู้ที่เคยกระทำมักจะกลับมา “ทำซ้ำ ๆ” จนดูเหมือนเป็นการ “เสพติดเฮทสปีช” ไปแล้ว ซึ่งปัญหานี้สามารถจะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในสังคมไทยปัจจุบัน …นี่เป็น “มุมสะท้อนน่าคิด”…

บูลลี่…ได้ลุกลามกลายเป็น “เฮทสปีช”

ใจร้าย…ขยับเป็น “โหดร้ายออนไลน์”

“น่าหวั่นใจ!!…ยิ่งก่อพิษภัยรุนแรง!!”.