โดยที่ปรากฏการณ์ทัวร์ลงนี้หลาย ๆ คนที่ “โดน” ก็ดูจะ “รับมือได้” แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่ดูจะ “รับไม่ไหว” จนทำให้ “เกิดภาวะเครียด” ซึ่งก็น่าคิดว่าคนที่แบกรับแรงกดดันกรณีนี้ไม่ได้ จนถึงขั้น “ทำให้ป่วยทางจิต” นั้น…ในสังคมไทยมีแล้วแค่ไหน?? และกับการ ’ใช้ถ้อยคำแรง ๆ“  กันในโลกออนไลน์ ในปรากฏการณ์โซเชียลถล่มนั้น หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้น ในอีกมุมก็มีคนที่ ’ตั้งข้อสังเกต“…

      ก็มีการ ’ตั้งปุจฉา“ ว่า…’ทำไม??“…

      “ชาวออนไลน์ร้ายกับคนที่ไม่รู้จัก??”

ทั้งนี้ กับ “ปุจฉา” กรณีนี้ก็มีการวิเคราะห์ไว้เช่นกัน ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ โดยนักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ รวิตา ระย้านิล ได้สะท้อนกรณีนี้ไว้ผ่านบทความ ’ในโลกออนไลน์…ทำไมเราถึงใจร้ายกับคนไม่รู้จัก?“  ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.psy.chula.ac.th ที่ระบุถึงกรณีนี้ไว้ว่า… คนท่องโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม น่าจะรู้สึกเหมือนกันว่า…คนยุคนี้มักพูดจาหรือพิมพ์ถึงกันโดย รักษาน้ำใจน้อยลง ซึ่งต่างจากเวลาที่สนทนาหรือเจอหน้ากัน ที่โดยทั่วไปจะพยายามรักษามารยาท หรือเกรงใจเวลาที่จะพูดอะไรไป โดยเฉพาะกับ “คนไม่รู้จัก” 

       ในโลกออนไลน์ดูจะแตกต่างจากโลกจริง

       โดย ’ในโลกออนไลน์มักจะใจร้ายง่าย“

สำหรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้… รวิตา ระย้านิล นักจิตวิทยา ระบุไว้ว่า… สิ่งที่น่าสนใจกับกรณีโลกออนไลน์มีการ ใช้ถ้อยคำร้ายแรงเชือดเฉือน หรือตัดสินถูกผิดก่อนที่จะทราบข้อมูลจริง กันอย่างง่าย ๆ ทั้งที่มีกฎหมายหมิ่นประมาท มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเกิดกรณีตัวอย่างอยู่เรื่อย ๆ ทว่าก็ไม่สามารถหยุดยั้งการ ทำร้ายกันด้วยวาจา ในภาพรวมในโลกออนไลน์หรือในโซเชียลได้นั้น เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจมี ปัจจัยจากเรื่อง ’ความเป็นนิรนาม (anonymity)“ ในโลกออนไลน์ ที่เอื้อต่อการ กระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวทางไซเบอร์ เพราะผู้คอมเมนต์สามารถ ’ซ่อนตัวตน“ อยู่ใต้ชื่อหรือรูปภาพอื่นได้ ซึ่ง…

       ทำให้กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

      และก็ ’ยิ่งแสดงพฤติกรรมได้อิสระ“

ทางนักจิตวิทยาท่านดังกล่าวระบุไว้อีกว่า… มีงานทดลองบางชิ้นที่พยายามหาคำตอบว่า…คนเราจะเชื่อฟังผู้มีอำนาจจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นได้มากแค่ไหน? ที่ผลทดลองพบว่า…การแยกเหยื่อให้อยู่อีกห้อง ทำให้ มองไม่เห็นกัน รับรู้ได้เพียงเสียงร้องของเหยื่อหรือเสียงที่เงียบไปของเหยื่อ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง มักเพิ่มระดับการทำร้ายมากกว่าในยามปกติ ซึ่งผลทดลองนี้ก็สะท้อนได้ว่า การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในร้อยพันข้อความโจมตีเป็นปัจจัยที่เอื้อ ให้เกิดการยกระดับความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น  ซึ่งยิ่งมีแอ็กเคานต์แสดงข้อความทางลบมากเท่าไร ข้อความรุนแรงก็ยิ่งปรากฏเพิ่มขึ้น!!

“ในทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility) เสนอไว้ว่า… เมื่อใดที่มีคนมากขึ้น ผู้คนในนั้นก็มักจะรู้สึกรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งการล่าแม่มดในสื่อสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน เมื่อมีตัวเปิดและมีคนตามจำนวนมาก ความรับผิดชอบต่อถ้อยคำทางลบก็จะยิ่งหารกัน ทำให้การยับยั้งไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลก็เกิดขึ้นน้อยลง” …นี่เป็นทฤษฎีและเป็นการอธิบายเกี่ยวกับ ’ปรากฏการณ์ทัวร์ลง ที่เกิดขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นให้…

      ’ร้ายตามกระแสสังคมกันง่าย ๆ!!“

ขณะที่ “จุดเด่นโลกออนไลน์” ซึ่งเป็น “พื้นที่เปิด” ที่ทำให้ผู้คนมีอิสระในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ง่าย จุดเด่นข้อดีนี้ก็กลายเป็น “ดาบ 2 คม” รวมถึงเป็น “ความท้าทายในสังคมยุคใหม่” ว่า… จะใช้อิสระอย่างไรไม่ให้ละเมิดหรือกระทบผู้อื่นเกินไป?? เพราะแม้ตัวตนในโลกเสมือนอาจไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของคน ๆ หนึ่ง แต่ความรู้สึกกับความเจ็บปวดที่ได้รับนั้น กลับไม่ได้น้อยไปกว่าโลกความเป็นจริง ซึ่ง “เสียงที่ได้ยิน-ข้อความที่ได้อ่าน” ก็สามารถ ทำให้ เกิดแผลบาดลึก สร้างรอยแผลใจให้คน ๆ หนึ่งได้ เช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง ฝึกให้มีสติระลึกรู้ตัว มากขึ้น หรือ ’เอาใจเขามาใส่ใจเรา“ มากขึ้น

       ต้องระลึกว่า ’สิ่งที่แสดงออกไป“ นั้น…

      ถูกต้องหรือไม่?…ผู้รับจะรู้สึกเช่นไร?

นอกจากนั้น ควร ฝึกทอดเวลาให้อารมณ์ความรู้สึกจางลง ซึ่งเป็นอีกหนทางที่นักจิตวิทยาและผู้มีประสบการณ์ในโลกไซเบอร์แนะนำ เพราะเมื่อสมองส่วนอารมณ์ผ่อนลง สมองส่วนเหตุผลก็จะทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น จนทำให้เราเกิดความเป็นกลางต่อเรื่องราว และต่อท่าทีของตนเอง ซึ่งการรอให้ตนเองได้ตกตะกอน รวมถึงรอให้ได้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ย่อม ดีกว่าปล่อยความรู้สึกนึกคิดของตนไปกับความวู่วาม-อคติที่ครอบงำ หรือหากว่าต้องการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางระบายอารมณ์ความรู้สึก ก็ทำได้โดยพิมพ์ข้อความลงไป แล้วเลือกเผยแพร่เฉพาะตัวเอง แทนการโพสต์สู่สาธารณะทันที…

       นี่ก็อาจช่วย ’ลดความใจร้าย“ ลงได้

      ’ใจร้ายทางออนไลน์“ ทำร้ายผู้อื่น…

      ก็บ่อย…’หวนคืนทำร้ายตนเอง!!“.