เป็นการระบุจาก ดร.เซลิน่า คาร์ล ฮอฟ จากสถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary anthropology ประเทศเยอรมนี ที่มาร่วมงานกับคณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร และ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักพันธุศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อ “ศึกษาดีเอ็นเอมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในป่าเขตร้อน” ซึ่ง…

พบข้อมูลใหม่ “มนุษย์โบราณในไทย”

ที่บ่งชี้ว่า “น่าจะมีอายุกว่า 1,700 ปี

โดยถือว่า “เป็นการค้นพบที่สำคัญ”

ทั้งนี้ การค้นพบที่สำคัญกรณี “ดีเอ็นเอมนุษย์โบราณในประเทศไทย” เวลานี้กำลังได้รับความสนใจจากแวดวงนักวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั่วโลก ซึ่งเป็นความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือระหว่างคณะนักวิจัยไทย กับคณะนักวิจัยนานาชาติ ที่ทำให้พบ “ข้อมูลใหม่” เกี่ยวกับ “มนุษย์โบราณในประเทศไทย อายุเก่าแก่กว่า 1,700 ปี” โดยผลงานนี้เพิ่งถูก ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ’Nature Communications“ ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลก หลังจากทีมนักวิจัยได้นำเสนอข้อค้นพบใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ในวงวิชาการทั้งด้านโบราณคดีและด้านพันธุศาสตร์ของโลก…

สำหรับการ “ค้นพบข้อมูลสำคัญ” ดังกล่าวนี้ ทาง ศ.ดร.รัศมี นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูง ที่ริเริ่มขุดค้นแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มามากกว่า 20 ปี ให้ข้อมูลไว้ว่า… ผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติล่าสุด เป็นส่วนหนึ่งจาก โครงการ “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน” ภายใต้การสนับสนุนจากทาง สกว. และ วช. โดยเป็นข้อค้นพบที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในวงวิชาการ เช่น ผลลำดับเบสที่สมบูรณ์ของตัวอย่างดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กับโครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ของคนโบราณที่เกี่ยวข้องกับ “วัฒนธรรมโลงไม้” ซึ่งข้อค้นพบเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้การศึกษาต่อไปในอนาคต เกี่ยวกับ…

มนุษย์โบราณ และวัฒนธรรมโลงไม้

ใน “พื้นที่เอเชียตะวันออกอาเซียน”

“คณะวิจัยจากสหสาขาทำงานร่วมกันตั้งแต่สำรวจขุดค้น จนพบชิ้นส่วนมนุษย์โบราณ กับร่องรอยวัตถุทางวัฒนธรรมภายในโลงไม้ในถ้ำและเพิงผาต่าง ๆ บนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า ที่มีอายุเก่าแก่ 2,300 ถึง 1,000 ปีมาแล้ว ก่อนนำหลักฐานที่ได้มาศึกษาเพิ่มเติมด้วยการบูรณาการความรู้หลากหลายสาขา”…ศ.ดร.รัศมี ระบุไว้ถึงเรื่องนี้

ขณะที่ รศ.ดร.วิภู นักพันธุศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในทีมนักวิจัยไทย ซึ่งสนใจศึกษา ดีเอ็นเอกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ได้ระบุถึงการค้นพบข้อมูลเรื่องนี้ไว้ว่า… คณะวิจัยได้ร่วมกัน ศึกษาดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในชิ้นส่วนกระดูกและฟันโบราณ จำนวน 33 ชิ้น อายุกว่า 1,700 ปี ที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำของวัฒนธรรมโลงไม้บนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า ซึ่ง “จิ๊กซอว์สำคัญ” ในการทำงานครั้งนี้ก็คือ การที่สามารถ “สกัดดีเอ็นเอโบราณได้” ในสภาพแวดล้อมแบบป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ทำได้ยาก” เพราะอากาศร้อนชื้นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีเอ็นเอโบราณเสื่อมสลายเร็วขึ้น…

พร้อมกันนี้ ทาง รศ.ดร.วิภู ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… นอกจากปัจจัยสภาพแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่ง “อุปสรรคสำคัญ” คือ “การมีข้อมูลที่จำกัด” เนื่องจากในปัจจุบันมีรายงานการศึกษา “ดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ค่อนข้างน้อย และค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด โดยมีผลการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่มากนัก ดังนั้น ผลการศึกษาครั้งนี้ถือเป็นผลการศึกษาดีเอ็นเอโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด ณ ปัจจุบันในแง่จำนวนตัวอย่างและคุณภาพดีเอ็นเอ ที่เก็บรวบรวมได้

…นี่เป็นภาพการทำงานวิจัยที่มิใช่ง่าย ๆ

แต่ก็สามารถ “ค้นพบข้อมูลที่สำคัญ!!”

ทั้งนี้ สลับกลับมาที่ ศ.ดร.รัศมี ที่ได้ให้ข้อมูลการค้นพบนี้ไว้อีกว่า… จากข้อมูลวิจัยพบว่า “คนโบราณ” พื้นที่ อ.ปางมะผ้า น่าจะมีชีวิตอยู่ใน “สมัยเหล็ก” เพราะพบพันธุกรรมที่คล้ายประชากรโบราณในสมัยหินใหม่จาก 2 พื้นที่ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี และที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง ของจีน นอกจากนี้ ผลศึกษาที่พบยังทำให้เห็นถึง “โครงสร้างของประชากรโบราณ” ที่พบว่า… มีขนาดใหญ่ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในพื้นที่ รวมถึงยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกันอีกด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็น “จิ๊กซอว์อดีตที่ช่วยให้คนปัจจุบันเข้าใจมากขึ้น” ถึงชุมชนในอดีต ความสัมพันธ์ของคนโบราณ

“ช่วยขยายพรมแดนความรู้เรื่องเส้นทางและการเคลื่อนย้ายของคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วง 1,700 ปีมาแล้วมากขึ้น ซึ่งถ้านักวิจัยไทยได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง เชื่อว่าไทยจะมีผลงานวิจัยระดับแนวหน้าเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ไม่เฉพาะกับไทย แต่รวมถึงโลกด้วย”ศ.ดร.รัศมี ย้ำ “ความสำคัญ” การศึกษาเรื่องนี้

ศึกษา “มนุษย์โบราณในพื้นที่ไทย”

วิจัย “ลงลึกรายละเอียดดีเอ็นเอ”

ที่ “ต่อจิ๊กซอว์ถึงคนไทยในวันนี้”.