แต่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ช่วงเวลาแห่งความสุข อาจใกล้สิ้นสุดแล้ว เนื่องจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูง, ประชากรที่ยากไร้เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ และราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวเอลซัลวาดอร์จึงเริ่มคิดถึง สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

“รัฐบาลบูเคเลสมัยที่สอง จะมีปัญหา เพราะความคาดหวังของประชาชนจะไม่ได้รับการตอบสนองทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม” นายซีซาร์ วิลลาโลนา นักเศรษฐศาสตร์อิสระชาวเอลซัลวาดอร์ กล่าว “แนวโน้มทางเศรษฐกิจสำหรับบูเคเล หรือระบอบการปกครองของเขา อยู่ในทิศทางที่ไม่ดี”

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ลดลง ถือเป็นลางร้ายสำหรับอนาคตของเอลซัลวาดอร์ ซึ่งราคาอาหารพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ขนมปัง, ถั่ว, เนื้่อสัตว์, ไข่ และผลไม้ เพิ่มขึ้นราว 30% ในรอบ 3 ปี ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% เท่านั้น

ตามตัวเลขในปี 2565 จากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียนแห่งสหประชาชาติ (อีซีแอลเอซี) ชาวเอลซัลวาดอร์เกือบ 30% มีชีวิตอยู่อย่างยากจน ขณะที่รายงานปี 2566 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า คนงานชาวเอลซัลวาดอร์ประมาณ 70% เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และเงินบำนาญจากรัฐบาล

นอกจากนี้ สุขภาพทางการคลัง คือความกังวลหลักอีกประการหนึ่ง โดยเอลซัลวาดอร์มีหนี้สาธารณะประมาณ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และประเทศไม่สามารถขายพันธบัตรในต่างประเทศเพื่อหาเงิน หรือดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น

BBC News

ในทางกลับกัน รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ต้องกู้ยืมเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ ธนาคารกลาง และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดดุลมากขึ้นตามไปด้วย

แม้เอลซัลวาดอร์กำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อขอเงินกู้จำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46,000 ล้านบาท) แต่วิลลาโลนา กล่าวว่า บูเคเลไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายสาธารณะและเงินสนับสนุน ตลอดจนการขึ้นภาษีผู้บริโภค เพราะมันมี “ผลกระทบทางการเมือง”

แม้บูเคเล ทำให้บิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2564 ในความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์ แต่งานศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างเชื่องช้า

นายคาร์ลอส อาเซเวโด อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางเอลซัลวาดอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดที่ 2 ของบูเคเล ต้องแก้ปัญหาความยากจนอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการลงทุนทางสังคม ปัญหาแก๊งอาชญากรรม หรือปรากฏการณ์ที่มีความรุนแรงเทียบเท่า จะปรากฏอีกครั้งในระยะกลาง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP