เมื่อเดือน ก.ย. 2566 จีนกลายเป็นประเทศแรก ซึ่งแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำกรุงคาบูล และเอกอัครราชทูตของรัฐบาลตาลีบัน ประจำกรุงปักกิ่ง ได้มอบอักษรสาส์นตราตั้งแก่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน
อีกทั้งในเดือนที่แล้ว จีนกับรัสเซีย ร่วมกันงดออกเสียงในการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษประจำปากีสถาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตาลีบันคัดค้านอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ แนวทางของจีน ในการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูต โดยไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ช่วยให้รัฐบาลปักกิ่งสามารถรักษาความสัมพันธ์ และไม่แสดงท่าทีต่อต้านกับประเทศอื่นในโลก ซึ่งรางวัลของความเคลื่อนไหวดังกล่าว คือการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ที่ยังไม่ถูกใช้ของอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับตลาดสำหรับสินค้าจีน
“ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลของอัฟกานิสถาน เช่น ทองแดง ลิเทียม หรือแร่ธาตุหายาก มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญสำหรับจีน” นายจาลาล บาซวาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดาน ในกรุงคาบูล กล่าว
แม้จีนและอัฟกานิสถานมีพรมแดนร่วมกันยาวเพียง 76 กิโลเมตร แต่ถนนความยาว 300 กิโลเมตร ที่จะเชื่อมต่อจังหวัดบาดัคชาน กับชายแดนของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 53,000 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี จีนยังให้ความสำคัญในความมั่นคงของการลงทุนเช่นกัน หลังการโจมตีอย่างร้ายแรงของกลุ่มไอเอส เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ซึ่งมีชาวจีนพักอยู่ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งตกตะลึง และเรียกร้องให้ทางการตาลีบันปรับปรุงการรักษาความปลอดภัย
ตามส่วนหนึ่งของการสร้างสายสัมพันธ์ รัฐบาลปักกิ่งยังใช้ “อำนาจละมุน” ด้วยการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ ขณะเดียวกัน อัฟกานิสถานยังสามารถบูรณาการเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งนำไปสู่ท่าเรือกวาดาร์ ช่องทางยุทธศาสตร์สำหรับจีน ในทะเลอาหรับ ทางตอนใต้ของปากีสถาน
“ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของอัฟกานิสถาน ตามแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) ทำให้อัฟกานิสถานเป็นพันธมิตรที่น่าดึงดูด” บาซวาน กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม