จากบทเรียนคดี “น้องไข่เน่า” หญิงสาว วัย 19 ปี โด่งดังอยู่ในแฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โอนลี่แฟน (Only Fans)  ที่ผู้เข้าไปใช้สามารถสร้างและติดตามคนอื่นได้ นอกจากนี้ยังอนุญาต ครีเอเตอร์ (creator) สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์วาบหวิวแนว 18+ โดยเฉพาะเรื่องเพศไม่มีการเซ็นเซอร์เพราะมองในมุมว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสิ่งมีชีวิต ผู้ที่เข้ามากดติดตาม ถ้าสนใจเข้าไปดูคอนเทนต์สุดพิเศษ ของกลุ่ม เซ็กซ์ครีเอเตอร์ (sex creator) ก็ต้องสมัครสมาชิกจ่ายเงิน (รายเดือน-รายปี) เพื่อเข้าถึงคอนเทนต์สุดพิเศษ “น้องไข่เน่า” ก็เป็นหนึ่งในดาวเด่นของเซ็กซ์ครีเอเตอร์ ที่สร้างคอนเทนต์ของตัวเอง แต่คลิปถูกนำออกมาเผยแพร่ว่อนไปในโลกโซเชียล สุดท้ายทำให้ถูกตำรวจตามจับกุมดำเนินคดีพร้อมแฟนหนุ่มไปเรียบร้อย

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

ในเมื่อมีเด็กสาววัยเพียง 19 ปีได้สร้างคอนเทนต์ออกมาสั่นสะเทือนสังคมเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องราวที่น่าฉุกคิดเป็นอย่างยิ่ง ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ ดร.ธัชกร ธิติลักษณ์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสอบถามถึงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น กล่าวว่า แพลตฟอร์มโอนลี่แฟน โชว์วาบหวิวในลักษณะนี้มีมาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะตามเว็บไซต์ 18+ ที่มีทั้งแบบเข้าชมฟรี และเสียค่าสมาชิก โดยต้องซื้อสิทธิพิเศษในการเข้าถึงจึงจะมีรหัสเข้าไปใช้งาน จะสมัครเป็นรายเดือนหรือรายปีซึ่งก็มีหลายรูปแบบ ด้านเนื้อหามีการจัดการนำเสนอแยกตามรสนิยม ในต่างประเทศมีมานาน แต่ในไทยมีหลายคู่ที่เริ่มทำคลิปออกมามากขึ้น โดยคนที่ทำเป็นธุรกิจรายได้ของเจ้าของคลิปมาจากยอดผู้ชม ค่าตอบแทนถ้าเป็นคลิปที่นิยม จะรายได้หลักหมื่น ถึงหลักแสนบาท บางครั้งต้องคิดเนื้อหาที่จะเรียกให้ผู้ชมทั่วโลกสนใจและยอมจ่ายเงินเข้ามาชม

ตัวอย่างของ “น้องไข่เน่า” ที่ถูกตำรวจจับกุมตัวพร้อมแฟนหนุ่ม ในทางวิชาการถือว่า เป็นการถอนรากถอนโคน และท้าทายสังคมมาก เป็นการโต้แย้งทางความคิดกับเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเชิงวัฒนธรรม แม้ว่าจะวางอยู่บนฐานของสิทธิเหนือร่างกายก็ตาม  ที่สำคัญเกิดในสังคมไทยที่วุฒิภาวะของสังคมในประเด็นนี้ยังไม่พร้อม ดังนั้นจึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี โดยส่วนตัวมองว่าถือเป็น เชื้อไฟ หรือต้นตอของปัญหาอื่น ๆ เช่น ทำให้เพิ่มขนาดของธุรกิจเพศพาณิชย์ และการตัดสินใจของวัยรุ่น ในประเด็นของการหาเงิน โดยวิธีการที่ไม่สร้าง สรรค์ เป็นต้น

สำหรับขนาดของตลาดโอนลี่แฟน คิดว่าไม่น่าจะใหญ่มาก เพราะจำกัดอยู่แต่ในวงสมาชิก ไม่เหมือนกับกรณีการค้าประเวณีบนโลกออนไลน์ ซึ่งรายได้ของผู้เกี่ยวข้องขึ้นกับยอดการดูและซื้อสมาชิก บางคนอาจได้เงินแยะเหมือนน้องไข่เน่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้เท่านั้น ที่สำคัญการเปิดเผยตัวตนเกินไป เพื่อแลกมากับจำนวนเงินที่ได้กลับมา หากปล่อยคลิปไปแล้ว ไม่เป็นที่สนใจก็จะเป็นการประจานตัวเอง 

ขณะที่แนวทางแก้ไขกรณีแพลตฟอร์มโอนลี่แฟน ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์ ในการตามจัดการเว็บไซต์ หรือหาทางแก้ไขผ่านการควบคุมการสื่อสาร และช่องทางต่าง ๆ  รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนและบุคคลเพื่อทำความเข้าใจว่าผลเสียของการมีภาพเหล่านั้นมีผลกับชีวิตเขาอย่างไร และต้องใช้มาตรการเชิงป้องกัน โดยการทำความเข้าใจ ชี้ให้เห็นผลเสีย มากกว่าการปราบปรามจับเอาผิด รวมถึงลดทอนช่องทางต่าง ๆ ที่จะสร้างความต้องการของผู้เสพ มากกว่าการไล่จับกุมอย่างบ้าคลั่ง  ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็งผสมกัน

ธุรกิจเพศพาณิชย์ไหลบ่าสู่ออนไลน์

ดร.ธัชกร กล่าวว่า ถ้ามองในภาพรวมหลังมีการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบทำให้ธุรกิจทางเพศซบเซาลงเพราะสถานบริการถูกให้ปิดบริการ รวมถึงพนักงานในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการทุกตำแหน่งตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ด้วยปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสทำให้ผู้ค้าบริการหันไปใช้เป็นช่องทางตลาดในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้น หลายคนจึงหันมาขายบริการบนโลกออนไลน์ เพราะมีหลายช่องทางในการติดต่อหลากหลาย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐตามจับได้ยากมากขึ้น และจากเดิมที่ธุรกิจนี้อยู่ใต้ดิน เมื่อไปอยู่บนโลกออนไลน์ก็เหมือนอยู่ลึกกว่าใต้ดินเข้าไปอีก จึงทำให้เราประมาณการขนาดของธุรกิจนี้ในภาพรวมได้ยากมาก 

แต่จากข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้ในปี 2547 มีคนที่อยู่ในระบบธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ตอนนี้คาดว่ามีมากกว่าเดิมหลายเท่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ รสนิยมเสรีทางเพศ และช่องทางออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันมีผู้หญิงที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น และธุรกิจนี้ยังมีทั้งตลาดของผู้ค้าบริการที่หลากหลายขึ้น ดังนั้นน่าจะมีการปรับตัวตามความต้องการของผู้ซื้อ ที่มีรสนิยมหลากหลายมากขึ้น คาดว่าปัจจุบันมีคนที่อยู่ในธุรกิจนี้มากถึง 3–4 ล้านคน โดยจะมีผู้ค้าบริการเข้าออกจากระบบธุรกิจนี้หมุนเวียนอยู่ตลอด เนื่องจากวงจรการทำงานขึ้นกับอายุ เช่น เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องเลิกไปแล้วมีคนเข้ามาใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วง เมื่อธุรกิจทางเพศหันไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นคือ เรื่องของการควบคุมโรคติดต่อต่างๆ เพราะเดิมแม้มีสถานบริการที่มีการค้าประเวณีแฝง เจ้าหน้าที่ยังจะสามารถควบคุมในเรื่องสาธารณสุขได้ โดยผู้ค้าบริการทุกคนในสถานบริการต้องตรวจเลือด และผู้ค้าบริการเองบางส่วนก็จะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ  3 เดือนด้วยตัวเอง ทั้งนี้เพราะสถานบริการแต่ละแห่งนั้น ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาใช้บริการ และผู้ค้าบริการเองก็หวาดกลัวเพราะเสี่ยงต่อการติดโรคได้เช่นกัน

ดังนั้น หากธุรกิจเพศพาณิชย์ไปอยู่ในโลกออนไลน์จึงไม่มีระบบที่จะควบคุมในเรื่องสาธารณสุขได้เลยจากคดี “น้องไข่เน่า” นับเป็นเรื่องที่ช่วยจุดประกายให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ที่สำคัญต้องหาแนวทางจะสร้างกรอบการป้องกันขึ้นในสังคมยุคใหม่

หนุนทุกภาคส่วนร่วมหาทางออก

นอกจากนี้ ดร.ธัชกร ธิติลักษณ์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ยังมีมุมมองว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนไป และองค์ความรู้เรื่องเพศพาณิชย์ยังมีการศึกษาน้อยมากในเชิงนโยบาย ซึ่งจริง ๆ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องพยายามหาองค์ความรู้ให้ครอบคลุมโดยให้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพ ประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาเพื่อสอบถามความเห็นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ เพราะในปัจจุบันหลายคนมองว่าการมีสถานที่แบบนี้สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเพศได้ แก้ปัญหาธุรกิจใต้ดินผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจนี้ได้

ธุรกิจทางเพศ ผู้ซื้อบริการจะปรับไปตามรูปแบบของผู้ให้บริการที่เปลี่ยนไปและไม่อาจหมดไปได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการที่เป็นผู้ชาย เพศที่ 3 และผู้หญิงรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสู่ธุรกิจนี้เป็นจำนวนมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการควบคุมธุรกิจทางเพศใหม่ โดยไม่ควรมองอย่างปราบปราม แต่ควรมองอย่างแก้ปัญหา เพราะสังคมก็รับรู้และยอมรับแล้วว่าสิ่งนี้มันมีอยู่จริงในสังคมไทย ที่ผ่านมาผู้ค้าบริการส่วนหนึ่งก็พยายามจะเรียกร้องเพื่อให้ได้สวัสดิการ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ยังดำรงอยู่ก็ต้องยอมรับอีกด้วยว่าผู้มีอิทธิพลทั้งที่มีสีและไม่มีสีก็มีส่วนในธุรกิจทางเพศเหล่านี้ จึงเลือกให้ธุรกิจนี้เป็น “พื้นที่สีเทา” เอาไว้แสวงหาผลประโยชน์ดีกว่าทำให้โปร่งใสชัดเจนแบบสากล.