เฟซบุ๊ก กลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับทุกคน ในทุกที่ ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 3,000 ล้านคนต่อเดือน เมื่อรวบรวมข้อมูลถึงสิ้นปี 2566

“ในตอนที่เปิดตัว เฟซบุ๊ก ถือเป็นการปฏิวัติ และมันเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวเกินจริง ถึงอิทธิพลที่เฟซบุ๊ก ตั้งแต่วัฒนธรรมป๊อป ไปจนถึงการเมือง และพฤติกรรมทางออนไลน์ของพวกเรา” นางจัสมิน เอ็นเบิร์ก นักวิเคราะห์จาก อินไซเดอร์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าว

ยิ่งผู้ใช้งานมีส่วนร่วมกับเครือข่ายสังคมมากเท่าไหร่ เฟซบุ๊กจะยิ่งแสดงโฆษณาทำเงิน ซึ่งกำหนดเป้าหมายโดยใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้แชร์บนแพลตฟอร์ม ได้มากเท่านั้น อีกทั้งมันยังได้รับการยกย่องจากการช่วยทำให้เนื้อหา “กลายเป็นกระแส” และขับเคลื่อนความนิยมของสื่อข่าวออนไลน์

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังมีชื่อเสียงจากการซื้อ หรือเลียนแบบคู่แข่งที่มีศักยภาพ ซึ่งในตอนนี้ เฟซบุ๊กมีแอปพลิเคชันในเครือมากมาย เช่น อินสตราแกรม และวอตส์แอป ที่สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง สแนปแชต ติ๊กต็อก และแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้

ขณะเดียวกัน ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ยังคงยึดถือกลยุทธ์ในการลงทุนจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ใช้งาน ก่อนที่จะผสานวิธีการสร้างรายได้ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับโฆษณาที่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย

เฟซบุ๊ก กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการโฆษณาออนไลน์เหมือนกับ “กูเกิล” และบริษัทมีผลกำไรสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 810,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2565 ซึ่งเอ็นเบิร์ก กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ภูมิทัศน์ดิจิทัล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เกิดในช่วงทศววรษที่ 1980 และ 1990 อีกทั้งผู้โฆษณาจำนวนมากยังคงปฏิเสธเฟซบุ๊กไม่ได้ เนื่องจากการเข้าถึงและประสิทธิภาพของมัน

อย่างไรก็ตาม โมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้นจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ และโฆษณาที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น กลับทำให้เฟซบุ๊กได้รับการร้องเรียน และถูกปรับ จากข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา

แม้เฟซบุ๊กเคยถูกกล่าวหาว่า คณะผู้บริหารของบริษัท ให้ความสำคัญกับผลกำไร มากกว่าความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งาน แต่แพลตฟอร์มนี้ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เฟซบุ๊ก สามารถลงทุนในนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และความเป็นจริงเสมือน (วีอาร์) จนนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น “เมตา” เมื่อช่วงปลายปี 2564 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของซัคเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับโลกเสมือนจริงที่เรียกว่า “เมตาเวิร์ส”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเชิงลึกออนไลน์ “ดาตารีพอร์ทัล” ระบุว่า ในปัจจุบัน ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี แต่การวัดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน ที่มีต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP