แม้การถอนตัวจากประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก หรือ “อีโควาส” ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี และเปิดโอกาสให้มีการเจรจา แต่ถ้าความเคลื่อนไหวดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ มันจะส่งผลให้กระแสการค้าและบริการของภูมิภาค มูลค่าเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 5.3 ล้านล้านบาท) เกิดการชะงักงัน

“หากทั้งสามประเทศตัดสินใจออกจากอีโควาส มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และประชาชนที่มาจากประเทศเหล่านี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงระดับสูงสุด” นายเซดิก อับบา ประธานของคลังสมอง “ไซเรส” (CIRES) ในกรุงปารีส กล่าว

FRANCE 24 English

รัฐบาลทหารของทั้งสามประเทศ ร่วมกันประกาศถอนตัวจากอีโควาส เมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหา อีโควาสละทิ้งหลักการก่อตั้ง, ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจต่างชาติ และให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ในการต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ ตลอดจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ และประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายชาร์ลี โรเบิร์ตสัน หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์มหภาคของบริษัทจัดการการลงทุน “เอฟไอเอ็ม พาร์ทเนอร์ส” ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของทั้งสามประเทศ มีแนวโน้มที่จะเป็นการทำร้ายตัวเองแบบไร้วิจารณญาณที่สุด นับตั้งแต่สหราชอาณาจักร ลงประชามติลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ เบร็กซิต

“ทั้งสามประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในอีโควาส และกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งการออกจากอีโควาส ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขาเลย” โรเบิร์ตสัน กล่าวเพิ่มเติม

อีกด้านหนึ่ง ประชาชนในมาลี, บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ มีความเห็นที่แตกต่างกันไป บางคนสนับสนับสนุนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหาร เนื่องจากอีโควาส ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ขณะที่คนบางกลุ่มมองว่า ประเทศของพวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยปราศจากอีโควาส

อนึ่ง อีโควาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในแอฟริกาตะวันตก แต่มาลี, บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรอย่างหนัก เนื่องจากกลุ่มพยายามผลักดันการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนผ่านการเลือกตั้ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านความมั่นคงกล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และแบ่งปันข่าวกรองมากขึ้น เพื่อรับมือกับการก่อความไม่สงบในวงกว้าง ทว่าวิกฤติครั้งล่าสุดที่อีโควาสประสบ กลับเน้นให้เห็นถึงความแตกแยกที่เพิ่มขึ้น ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีชาติตะวันตกเป็นพันธมิตร กับประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งต้องพึ่งพารัสเซียและจีนมากขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP