การปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้งของกองทัพปากีสถาน ทำให้ข่าน และพรรคเตห์รีค-อี-อินซาฟ (พีทีไอ) ของเขา เกือบถูกลบออกจากการณรงค์หาเสียง ก่อนถึงการเลือกตั้ง
“เจ้าหน้าที่พรรคของเรากำลังเผชิญกับการคุกคาม และผมได้คำขู่ฆ่าเป็นการส่วนตัว” นายจามาล อาห์ซาน ข่าน วัย 71 ปี ผู้ยืนหยัดเพื่อพรรคพีทีไอ ในเมืองเมียนวาลี กล่าวแทนผู้นำของเขา “ตลอดชีวิตของผม ผมไม่เคยเห็นการเลือกตั้งที่รุนแรงและคุกคามเท่านี้มาก่อน”
ข่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ และเผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายหลายสิบครั้ง ถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถาน ในวันที่ 8 ก.พ. นี้ เนื่องจากเขาถูกตัดสินว่า มีความผิดฐานรับสินบน ซึ่งเป็นคดีที่ข่านอ้างว่า มีแรงจูงใจทางการเมือง
พรรคพีทีไอ ถูกขัดขวางไม่ให้จัดการชุมนุมทั่วปากีสถาน และสื่อในประเทศถูกจำกัดการรายงานข่าวของฝ่ายค้านอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การรณรงค์หาเสียงของพรรค ต้องดำเนินการทางออนไลน์เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ แคนดิเดตหลายสิบคนทั่วประเทศของพรรคพีทีไอ ยังถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธเอกสารเสนอชื่อ รวมถึงไม่สามารถจัดการประชุมหรือแจกใบปลิวได้
ทั้งนี้ ข่านสร้างอาชีพทางการเมืองของเขาจากเมืองเมียนวาลี ในแคว้นปัญจาบ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 3 ครั้ง ซึ่งในเวลาต่อมา คำมั่นสัญญาของเขาที่จะจัดการกับการคอร์รัปชันให้สิ้นซาก และยุติการปกครองของตระกูลการเมืองที่มีมานานหลายชั่วอายุคน ทำให้พรรคพีทีไอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2561 และผลักดันให้ข่าน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
มีการเชื่อกันในวงกว้างว่า ข่านขึ้นสู่อำนาจโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ แต่ระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำปากีสถาน เขากลับเริ่มกดดันการควบคุมของนายพลผู้ยิ่งใหญ่ จนในที่สุด ข่านก็สูญเสียความโปรดปราน และถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง ในการลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อปี 2565 หลังสมาชิกผู้แทนราษฎรของเขาหหลายสิบคนแปรพักตร์
หลังจากนั้น การจับกุมข่านในเดือน พ.ค. 2566 ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนของเขา ออกมาเดินขบวนบนท้องถนน และประท้วงต่อต้านกองทัพ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการปราบปรามพรรคพีทีไออย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า เมื่อข่านล้มลง นายนาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานอีกคนหนึ่ง ก็ผงาดขึ้นมา ซึ่งเขาเข้าสู่อ้อมแขนของกองทัพปากีสถาน และเดินทางกลับมาตุภูมิ หลังลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักรนานหลายปี เพื่อเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน-นาวาซ (พีเอ็มแอล-เอ็น) หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
แต่ถึงอย่างนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวปากีสถานจำนวนมาก ก็ยังไม่สูญเสียความตั้งใจ และต้องการให้ข่านกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้เขาและพรรคพีทีไอ จะถูกกีดกันจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ตาม โดยบางคนให้เหตุผลว่า ข่านเป็นคนเดียวที่ใส่ใจประเทศนี้จริง ขณะที่คนอื่นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตัว.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP