ภารกิจสำรวจพื้นผิวชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของอินเดีย ใช้เวลาเดินทางนาน 4 เดือน เป็นระยะทางราว 1.5 ล้านกิโลเมตรจากโลก เพื่อไปถึงจุดหมายที่เรียกว่า “จุดลากร็องฌ์ที่ 1” หรือ “แอล1” ซึ่งยานอาทิตยา-แอล1 มีอายุการใช้งาน 5 ปี

ไอเอสอาร์โอ ระบุว่า ภารกิจอาทิตยา-แอล1 เป็นการสำรวจดวงอาทิตย์ของอินเดีย ที่จุดลากร็องฌ์ที่ 1 เพื่อสังเกตการณ์ และทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในชั้นโครโมสเฟียร์ และชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ได้ตลอดเวลา และปราศจากอุปสรรคกีดขวาง เนื่องจาก แอล1 เป็นจุดที่อยู่ด้านหน้าโลกเสมอ

ภารกิจดังกล่าวได้นับการออกแบบและพัฒนา ที่ศูนย์ดาวเทียมยูอาร์ ราว และได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ของไอเอสอาร์โอ, สถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งอินเดีย (ไอไอเอ), ศูนย์ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัย (ไอยูซีเอเอ) และสถาบันภาครัฐอื่น ๆ

VideoFromSpace

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท อานันท์ เทคโนโลยีส์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ก็ร่วมมือกับไอเอสอาร์โอ ในภารกิจอาทิตยา-แอล1 เช่นกัน โดยทำงานด้านวิศวกรรมที่มีความแม่นยำ และการผลิตที่มีความน่าเชื่อถือสูง สำหรับการดำเนินการในอวกาศ ซึ่งบริษัทมีบทบาทในการผลิตแพ็กเกจระบบการบินที่ประกอบด้วยส่วนประกอบจำนวนหนึ่ง รวมถึงคอมพิวเตอร์ออนบอร์ด และเซ็นเซอร์วัดตำแหน่งของดาวฤกษ์

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับภารกิจอาทิตยา-แอล1 อยู่ที่ประมาณ 3,780 ล้านรูปีอินเดีย (ราว 1,600 ล้านบาท) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย การพัฒนา และขั้นตอนการทดสอบ ตลอดจนอุปกรณ์ระดับสูง และความเชี่ยวชาญที่มีความสำคัญต่อการศึกษาชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์

อนึ่ง การทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ ยังคงมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ เนื่องจากเปลวสุริยะ และปรากฏการณ์สภาพอากาศอื่น ๆ ในอวกาศ สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน รวมถึงระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ทั้งในอวกาศ และบนพื้นดิน

ด้าน ดร.เอส สมนาถ ประธานของไอเอสอาร์โอ แสดงความคิดเห็นหลังยานอาทิตยา-แอล1 เข้าสู่วงโคจรของดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ ว่า การทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ ไม่ได้มีความสำคัญต่ออินเดียเพียงประเทศเดียว แต่ทุกคนทั่วโลกตั้งตารอการค้นพบต่าง ๆ ในอนาคต

แม้อินเดียมีความกังวลว่า ยานอวกาศอาทิตยา-แอล1 เป็นภารกิจที่ซับซ้อนอย่างเห็นได้ชัด แต่ดูเหมือนว่า การที่ภาคส่วนอวกาศของอินเดียเปิดกว้าง ไอเอสอาร์โอ อาจให้ความสนใจมากขึ้นกับภารกิจระหว่างดาวเคราะห์ และภารกิจในอวกาศห้วงลึกอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจ และขยายความรู้ของมนุษยชาติ เกี่ยวกับเทห์ฟากฟ้า หรือวัตถุทางดาราศาสตร์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP