หลังจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่มานานหลายปี ในที่สุด รัฐบาลเปียงยางได้ประกาศอย่างเป็นการในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลโซลคือ “ศัตรูหลัก” และยุบหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรวมประเทศใหม่ ตลอดจนขู่ว่าจะยึดครองเกาหลีใต้ในสงคราม
“นี่คือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากในอดีต ทั้งสองประเทศมีช่องทางป้องกันความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธ แต่ในตอนนี้ มันไม่มีสิ่งนั้นอีกแล้ว” นายฮง มิน นักวิเคราห์อาวุโส จากสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ ในกรุงโซล กล่าว “เกาหลีเหนือกำจัดทุกกลไกที่ป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย อีกทั้งการเรียกเกาหลีใต้ว่าเป็น ‘ศัตรูโดยหลักการ’ นั้น ไม่ใช่แค่วาทศิลป์ แต่เป็นคำพูดที่สามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย”
แม้คิมกล่าวว่า เขาไม่มีความตั้งใจที่จะเริ่มสงคราม แต่เขาก็ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการทำสงครามเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือยังประกาศกร้าว ไม่ยอมรับ แนวจำกัดตอนเหนือ (เอ็นแอลแอล) ซึ่งถือเป็นพรมแดนทางทะเลโดยพฤตินัยระหว่างสองเกาหลีอีกต่อไป ขณะที่กองทัพของคิมจัดการซ้อมรบโดยใช้กระสุนจริงในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งฮงมองว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น ที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าต่อสู้กันทางทหาร จนนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ก็ข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ที่ “รุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า” ต่อการยั่วยุใดก็ตามจากเกาหลีเหนือ แต่บางคนมองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นแนวทางที่ก้าวร้าวและมีความเสี่ยง พร้อมกับหวังว่ารัฐบาลโซลจะมุ่งความสนใจไปที่ความพยายามของตนเอง เพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้
ขณะที่ นางซู คิม หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านนโยบายของบริษัท แอลเอ็มไอ คอนซัลติง และอดีตนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) กล่าวว่า โอกาสของความปรองดองระหว่างสองเกาหลีนั้น “มืดมนมานานแล้ว” ซึ่งมันไม่ใช่แค่การปิดประตูของการสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ แต่มันเป็นการใส่ล็อกกุญแจ เพื่อทำให้ชาวเกาหลีเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น นายลีฟ-อีริก อีสลีย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวา ในกรุงโซล กล่าวว่า สัญญาณล่าสุดของคิม ที่ส่งถึงเกาหลีใต้ ดูเหมือนจะเป็นการปรับเปลี่ยนทางอุดมการณ์ เพื่อความอยู่รอดของระบอบการปกครอง ซึ่งสังเกตได้จากการให้ความสนใจในขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเขา
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวเกาหลีเหนือเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเทียบกับความสำเร็จของเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้ คิมจึงเพิ่มขีดความสามารถทางทหารเป็นสองเท่า เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากภายนอก ที่มีต่อความชอบธรรมภายในประเทศของเขา” อีสลีย์ กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP