และกรณีหนึ่งที่สำคัญที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้คือ…ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวัยเกษียณได้ รู้สึกเป็นภาระครอบครัว-สังคม ซึ่งจริง ๆ ผู้สูงอายุยังเป็น “พลังสังคม” ได้ หรือเป็น “พฤฒิพลัง” โดยเป็นได้ด้วยการเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ หรือผ่านทางการ…

เตรียมตัว “ปรับตัวให้อยู่อย่างมีสุข”

และ “เปลี่ยนความสุขเป็นพลังบวก”

เป็น “อีกพลังที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “การเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุ” ให้กลับมาเป็น “กลุ่มพลังทางสังคม” เพื่อร่วมพัฒนาประเทศ…แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม… แนวทางเรื่องนี้มีข้อมูลในบทความ “อยู่อย่างไรให้เป็นสุขในวัยสูงอายุ” ที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ให้คำแนะนำไว้…

“มีแนวทาง-มีหลักวิธี” ที่น่าพิจารณา…

หากสามารถ “ทำได้…ย่อมจะดีแน่ ๆ”

หลักใหญ่ใจความ-คำแนะนำดังกล่าว โดยสังเขปมีการระบุไว้ว่า… ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยชัดเจนแล้ว ซึ่งผู้สูงอายุที่มีวัย 60 ปีขึ้นไปในสังคมไทยนั้น ยังมีผู้ที่ยังสามารถ “เป็นพลังให้กับสังคมได้” อยู่จำนวนไม่ใช่น้อย โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะมีชื่อเรียกว่า… กลุ่ม “พฤฒิพลัง” ที่หมายถึง กลุ่ม “ผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” อย่างไรก็ตาม แต่การจะยกระดับผู้สูงอายุให้กลายเป็นกลุ่ม “พฤฒิพลัง” นั้น ก็จำเป็นต้องมีการเตรียมการ มีขั้นตอน และมีกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็น อาทิ เริ่มจากการ “ส่งเสริมการดูแลตัวเองให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ” เพื่อเตรียมพร้อม และเตรียมตัวทางด้านร่างกายและจิตใจให้กับผู้สูงวัย…

เพื่อจะ “เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง”

ทั้ง “ร่างกาย-จิตใจ-สมอง-อารมณ์”

สำหรับ “ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ” ที่ผู้สูงอายุจะต้องเผชิญ และต้อง “ปรับตัว-ปรับใจ…เพื่อรับมือ” นั้น เริ่มจาก ด้านร่างกาย ที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงลำดับต้น ๆ ที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องเผชิญ โดยเมื่อเข้าสู่วัยนี้ร่างกายก็ย่อมจะเริ่มอ่อนแอลง มีการเคลื่อนไหวที่ช้าลง หรือบางคนเกิดปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวที่ไม่ดี หรือแม้แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศยากขึ้นกว่าในอดีต, ด้านสมอง ได้แก่ หลงลืมง่ายขึ้น มีระบบความจำที่เสื่อมถอย หรืออาจจะมีการตัดสินใจ-การค้นหาเหตุผล-ความสุขุมรอบคอบที่แย่ลง และ ด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์ไม่คงที่ รู้สึกอ่อนไหวง่าย เอาแต่ใจตัวเอง โกรธง่ายกว่าในอดีต

เหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ที่ “ผู้สูงวัยต้องเผชิญ และต้องรับมือ”

นอกจากนี้ ข้อมูลในแหล่งดังกล่าวข้างต้นยังได้มีการสะท้อน อีกหนึ่ง “ปัญหาใหญ่” ที่ผู้สูงอายุต้องพบเจอ นั่นก็คือ “ปัญหาด้านจิตใจ” ซึ่งก็เป็นที่มาที่ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ หรือร่างกายไม่แข็งแรง โดยผู้สูงอายุมักจะ “เกิดภาวะเครียด” จากการที่วิตกกังวลเรื่องต่าง ๆ เช่น ขาดรายได้ดำรงชีวิต, กลัวลูกหลานไม่เลี้ยงดู, กลัวถูกทอดทิ้ง ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ หรือบำบัดสภาพจิตใจ ส่วนใหญ่มักจะ “เกิดทัศนคติเชิงลบต่อตัวเอง” เช่น รู้สึกชีวิตไร้ค่า รู้สึกไม่มีศักดิ์ศรี จนนำสู่การเกิดความ รู้สึกว้าเหว่ หรือรู้สึกอ่อนไหวเปราะบาง ทางอารมณ์

สภาพจิตใจต่าง ๆ เหล่านี้ “เป็นปัญหา”

มัก “ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายด้วย”

ทั้งนี้ แล้ว “จะทำอย่างไรให้มีความสุขในวัยสูงอายุ??”… ก็มีคำแนะนำแนวทางต่อผู้สูงวัยไว้ว่า… อาจเริ่มจากการ “เตรียมใจยอมรับความสูญเสีย” โดยมองเป็นเรื่องธรรมชาติของคนช่วงวัยนี้ และพยายามปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่ โดยไม่ควรคิดถึงอายุที่ล่วงเลยไปหรือเรื่องในอดีตที่ผ่านมาด้วยความวิตกกังวล ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่จะส่งผลให้เกิดความเครียดทางจิตใจและร่างกาย, “รับคำปรึกษาจากคนอื่นบ้าง” โดยไม่ควรจริงจังกับชีวิตตัวเองมากจนเกินไป ควรเดินทางสายกลาง และไม่ควรจะมีความคิดเชิงลบ เช่น คิดไปเองว่าเพราะอายุมากแล้ว จึงทำให้คนอื่นเลิกเคารพนับถือ

ถัดมา “ให้ความสำคัญกับสิ่งจำเป็นพื้นฐาน” ของตัวเอง อาทิ อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย สุขอนามัย การออกกำลังกาย การพักผ่อน, “ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ” อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เป็นประจำทุกปี เพื่อดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์เท่าที่ทำได้, “มองหาเพื่อนกลุ่มใหม่” หรือกิจกรรมใหม่ ๆ เช่น ลองร่วมวงสนทนากับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จะช่วยให้สังคมของผู้สูงอายุกว้างขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสังคมปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น และอีกแนวทางคือ “ยอมรับการเป็นผู้สูงอายุ” เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรำคาญ และยังช่วยให้ลูกหลานรู้สึกอบอุ่น จนอยากเข้ามาใกล้ชิด…

นี่คือ “วิธีปฏิบัติ” เพื่อ “เป็นพฤฒิพลัง”

แม้ไม่ง่ายนัก…แต่ “คงไม่ยากเกินทำ”

“ทำได้ชีวิตจะไม่เฉา…มีสุขได้ชัวร์”.