พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคงที่ใช้ชื่อว่า “ออคัส” ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่างสหรัฐ กับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีเป้าหมายชัดเจนคือ “การขอมีส่วนร่วม” กับอนาคตในด้านการรักษาสมดุลทางยุทธศาสตร์ของทวีปเอเชีย จากการที่ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ จากสหรัฐและสหราชอาณาจักร ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศส ตลอดจนอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากเกี่ยวโยงกับเม็ดเงินมหาศาล และการสร้างงานภายในภูมิภาค
แม้ไม่มีการเอ่ยถึงจีนอย่างตรงไปตรงมา แต่ออคัสกำลังเป็นเครื่องมือชิ้นล่าสุดของสหรัฐ ในการกดดันจีนและช่วงชิงส่วนแบ่งด้านผลประโยชน์จากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) ครั้งที่ 76 ที่นครนิวยอร์ก ว่าสหรัฐ “ร่วมมือกับทุกฝ่าย” และ “ไม่แสวงหาสงครามเย็นครั้งใหม่” อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การถือกำเนิดของออคัส คือจุดเริ่มต้นของการก้าวย่างไปสู่เส้นทางนั้น
หากมองจากมุมของออสเตรเลีย การเข้าร่วมออคัสถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาลแคนเบอร์รา ในการดึงให้อเมริกาพ่วงด้วยสหราชอาณาจักร เข้ามามีบทบาทระยะยาวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องแลกด้วยการที่ออสเตรเลียจะกลายเป็น “ทัพหน้า” โดยปริยาย ในการรับมือและเผชิญกับแรงกระแทกจากจีน ส่วนประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนั้น การที่สหรัฐ “จะให้เปล่า” นั้น “เป็นไปได้น้อยมาก เพราะรัฐบาลวอชิงตันต้องคาดหวังให้ออสเตรเลีย “เป็นตัวแทน” ออกหน้าในเรื่องที่เกี่ยวกับจีนให้ได้มากที่สุด และนับจากนี้ ในทุกความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ออสเตรเลียจะต้องมีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเวลาเดียวกัน ออคัสคือบททดสอบสำคัญชิ้นล่าสุด ต่อความเป็นเอกภาพ ความเป็นกลาง และความหนักแน่น ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น สมาชิกอาเซียนที่ปัจจุบันมี 10 ประเทศ ยังคงสามารถวางตัว “เป็นศูนย์กลาง” ให้กับโครงสร้างกลไกการทูตของเอเชีย การประชุมอาเซียนตลอดทั้งปีซึ่งมีตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้นำรัฐบาล ไม่ใช่การหารือกันเฉพาะระหว่าง 10 ประเทศ แต่ยังมีการประชุมร่วมกับบรรดาประเทศคู่เจรจา ที่มีทั้งสหรัฐและจีน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้ความเห็นเรื่องออคัสไปในทางที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียมองว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของการเพิ่มความแข็งกร้าวจากตะวันตกต่อจีน ซึ่งจะส่ผลกระทบให้เสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาคยิ่งสั่นคลอน โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่แทบไม่เคยมีความสงบในระยะยาวมานานแล้ว
ขณะที่มาเลเซียเรียกร้องอาเซียนร่วมกันรักษา “ปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง ( Zone of Peace Freedom and Neutrality ) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง ที่เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน นอกเหนือจากเสาหลักด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม
ขณะเดียวกัน มาเลเซียยังย้ำการปฏิบัติตาม สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty – SEANWFZ ) หรือ สนธิสัญญากรุงเทพ ฯ ฉบับปี 2538 มีข้อกำหนดห้ามภาคีพัฒนา ผลิต ครอบครอง ได้มา หรือมีอิทธิพลเหนืออาวุธนิวเคลียร์ ลงนามร่วมกันโดยสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
ทว่าฟิลิปปินส์มองว่า กลุ่มออคัส คือการขับเคลื่อนที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไม่ใช่เป็นการบ่อนทำลาย นอกจากนี้ ตราบใดที่ออคัสยังไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเคลื่อนไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังไม่ถือเป็นการละเมิดปฏิญญาร่วมของอาเซียน ในการเป็นพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์
รายงานเบื้องต้นระบุว่า ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกภายในปี 2583 จึงมีความเป็นไปได้ว่า สิ่งนี้อาจกลายเป็น “เครื่องต่อรองทางเศรษฐกิจ” จากการที่มีการคาดการณ์มานานแล้วว่า อาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่่ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2573 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นล่วงหน้านานถึง 10 ปี นอกเหนือจากการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพในมิติของความมั่นคง อาเซียนต้องเตรียมการรับแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นในเรื่องเศรษฐกิจด้วย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES