ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีข้อมูลจากรายงานของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ที่ได้ระบุไว้ว่า… ปี 2566 ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2,000 กว่าล้านบาท โดยถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อย ๆ …ซึ่งในแง่ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับสังคมผู้สูงอายุก็ถือเป็น “มุมดี” แต่ท่ามกลางมุมดีก็ “อาจจะเจอมุมแย่” จากสถานบริการบางแห่ง…

“ศูนย์ดูแลคนชรา” ที่ “ไม่มีมาตรฐาน”

“เสี่ยง” ทำให้ “ผู้สูงอายุเกิดอันตราย!!”

สังคม “ควรช่วยกันสอดส่อง-เฝ้าระวัง”

ทั้งนี้ เมืองไทยระยะหลัง ๆ ที่ สถานดูแลผู้สูงอายุกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จนทำให้ธุรกิจบริการรูปแบบนี้เติบโตอย่างมากนั้น กับประเด็นที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้ก็คือ…จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ได้กลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดศูนย์ดูแลที่ขาดมาตรฐาน หรือ “ศูนย์ดูแลเถื่อน” เปิดบริการโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งยิ่งน่าห่วงเรื่อง “ไม่มีมาตรฐาน-ไร้คุณภาพ” ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้บริการอยู่ภายใต้ความ “เสี่ยงอันตราย” โดยเรื่องนี้สังคมไทยก็เคย “ช็อก!!” มาแล้ว…หลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ศูนย์ดูแลเถื่อนแห่งหนึ่ง ซึ่งพบ…

“ผู้สูงอายุ” ในศูนย์ “นอนจมปฏิกูล!!”

ในสภาพ “ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรณีปัญหาดังกล่าวนี้ แน่นอนว่า “ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ” และก็อาจจะกลายเป็น “ปัญหาที่บานปลายใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ” ได้ ซึ่งกับแนวทางแก้ไข-ป้องกันปัญหาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ได้มาตรฐาน “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเถื่อน” เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ก็ได้สะท้อนข้อเสนอแนะไว้น่าสนใจผ่านบทความในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 266 โดยระบุไว้ว่า… เมื่อไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยต้องเร่งวางระบบดูแลผู้สูงอายุให้สามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงก็ทำให้การต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกันลูกหลานวัยทำงานก็มีภาระต้องทำมาหากิน ดังนั้นจึงทำให้…

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” เกิดขึ้นตอบโจทย์

เกิด “ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย” ในแบบต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ทาง มพบ. ได้นำเสนอ “เสียงสะท้อนนักวิชาการ” ที่ติดตามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ คือ ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ อาจารย์คณะกายภาพบำบัดฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่สะท้อนไว้ว่า… สถานดูแล-บริการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน หลัก ๆ มี 3 รูปแบบ คือ…เนิร์สซิ่งโฮม ดูแลผู้สูงอายุที่ออกไปข้างนอกลำบาก หรือป่วยติดเตียง, เดย์แคร์ เช้าไปเย็นกลับ และเทรนด์ใหม่ที่จะมีรูปแบบคล้าย ๆ กับเป็น คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ โดยทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าวนี้ เมื่อ รวมกันแล้วน่าจะมีอยู่ประมาณ 4,000 กว่าแห่ง แต่ในจำนวนนี้ มีแค่ราว 1,000 กว่าแห่งที่จดทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ตัวเลขนี้ยิ่งสะท้อนสถานการณ์น่าห่วง

น่ากังวล “ดูแลผู้สูงวัยไม่มีมาตรฐาน!!”

ทั้งนี้ ธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. สะท้อนไว้ว่า… ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนปัญหาสถานดูแลผู้สูงอายุเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิ่งที่ร้องเรียนมานั้นจะมีตั้งแต่ “ไม่มีมาตรฐาน-ไม่มีคุณภาพ” รวมถึงการ “หลอกลวง” จากบริษัทนายหน้าจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่พบปัญหาว่าส่งคนที่ไม่มีความรู้-ไม่มีความเชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุไปให้ผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีการขอคืนค่าบริการ บางรายก็ได้คืน ขณะที่บางกรณีก็ไม่ได้คืนจนต้องฟ้องร้อง แต่การต่อสู้คดีก็พบปัญหาตามมา กล่าวคือ… ดูเหมือนบริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อกฎหมายดี โดยส่งคนมาทำงาน 3 วัน 5 วัน ทำให้คดีเป็นได้แค่คดีทางแพ่งเท่านั้น…

ผู้บริโภค “เสียรู้-เสียเงิน-เสียเปรียบ”

นี่เป็น “เสียงสะท้อนถึงกรณีปัญหา”

และหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคยังระบุไว้ในบทความดังกล่าวอีกว่า… บริษัทเหล่านี้มักใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคอาจจะไม่ได้ขอดูรายละเอียด หรือหลงเชื่อจากโฆษณาทางโซเชียลฯ ที่มักดึงดูดใจด้วยการเขียนรีวิวดี ๆ จึงขอเตือนว่า… ต้องตรวจสอบให้ละเอียด เช่น ผ่านเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อดูว่าจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ มีการส่งงบดุลหรือไม่…ถ้าไม่ส่งก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริษัทลม และที่สำคัญ ต้องอย่าเชื่อแค่รีวิว ให้ตรวจสอบหลาย ๆ แหล่งว่ามีคนแสดงความเห็นตรงกันหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่แน่ใจก็ให้ลองมองหาที่อื่น ๆ ดูก่อน …นี่เป็นคำแนะนำผู้บริโภค

“ศูนย์ดูแล” เป็น “ตัวช่วยสังคมสูงวัย”

แต่ที่ “ไม่มีมาตรฐาน” ก็ “ต้องระวัง”

และโดยเฉพาะที่เป็น “ศูนย์เถื่อน”

ที่ “ผู้สูงวัยจะยิ่งเสี่ยงอันตราย!!”.