การเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้น ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อนโยบายที่มีอย่างยาวนาน ในการให้ความสำคัญกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness หรือ จีเอ็นเอช มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ภูฏาน ประเทศบนภูเขาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีประชากรประมาณ 800,000 คน ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก นั่นคือ อินเดีย กับจีน ที่ต่างจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากภูฏานถือเป็นพื้นที่ชายแดน ที่มีการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในระดับสูง
ท็อบเกย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยประชาชน (พีดีพี) และอดีตนายกรัฐมนตรีของภูฏาน ระหว่างปี 2556-2561 คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-9 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคของเขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 30 ที่นั่ง จากทั้งหมด 47 ที่นั่ง
ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย คู่ค้ารายสำคัญของภูฎาน เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ “แสดงความยินดีอย่างสุดซึ้ง” กับท็อบเกย์ ขณะที่ท็อบเกย์ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับอินเดีย รวมถึงพัฒนาเส้นทางรถไฟ ตอบกลับโมดี ด้วยคำขอบคุณเช่นกัน
ท็อบเกย์ อดีตข้าราชการวัย 58 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกทั้งเขายังเป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์อย่างกระตือรือร้น และเคยเป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาชุดแรกของภูฏาน เมื่อปี 2551
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก คือ ปัญหาที่คนรุ่นใหม่ของประเทศต้องเผชิญ ทั้งเรื่องการว่างงานของเยาวชน และ “ภาวะสมองไหล” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่กลุ่มบุคคลที่มีความสามารถ และทักษะเฉพาะด้านในระดับสูง อพยพออกจากประเทศบ้านเกิด เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ทั้งในด้านวิชาชีพ เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิต
ตามข้อมูลของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ อัตราการว่างงานของเยาวชนในภูฏาน อยู่ที่ 29% ส่วนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างกระท่อนกระแท่น ด้วยค่าเฉลี่ย 1.7% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงของการรณรงค์หาเสียง ท็อบเกย์ กล่าวเตือนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการอพยพขนานใหญ่ของภูฏาน แต่เขายังคงยึดมั่นในปรัชญาของรัฐบาลที่อยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งวัดความสำเร็จด้วย “ความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน”
อีกด้านหนึ่ง ชาวภูฏานจำนวนไม่น้อยหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่จะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ เนื่องจากประเทศมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และประสบปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ขณะที่บางส่วน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของท็อบเกย์ จะรับใช้ประเทศด้วยความจริงใจ และนำภูฏานไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP