สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ พาไปพบกับเยาวชนที่มีความหลงรักในดนตรีพื้นบ้านอีสาน “วัฒน์” วิลวัฒน์ วันนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ จ.สุรินทร์ ประธานชมรมดนตรีและนาฏศิลป์โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ หนึ่งในนักเรียนจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือกเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติ “วัฒนธรรมวินิต” ประจำปี 2567 จากนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม
“วัฒน์” เล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตร แต่ชอบดนตรีพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและการรำมาตั้งแต่เด็กๆเพราะเคยไปดูการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เช่น โหวด พิณอีสาน โปงลางของนักเรียนโรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ที่มีความสนุกสนานอย่างมาก จึงเกิดความสนใจอยากหัดเล่นดนตรีพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาหาความรู้จากสื่อต่างๆ เช่น ยูทูบ แต่ยังไม่มีโอกาสเรียนรู้และฝึกหัดอย่างจริงจัง จนเมื่อโตขึ้นได้มาเข้าเรียนชั้นม.1 ที่โรงเรียนทับโพธิ์พัฒนวิทย์ ช่วงที่อยู่ชั้นม.2 ได้เรียนรู้การเป่าโหวดจากรุ่นพี่ชั้นม.6 และไปเห็นโปงลางและพิณอีสานที่ห้องดนตรีของโรงเรียน จึงสนใจและเริ่มหัดเล่นอย่างจริงจัง โดยไปเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานในชุมชน ใช้เวลาหัดอยู่ 3 ปีจึงสามารถเล่นได้
“ผมหัดเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานโหวด พิณอีสาน โปงลาง เพราะชอบในเสียงดนตรีเหล่านี้ รู้สึกว่าเป็นเสียงที่ไพเราะ และสร้างความสนุกสนานแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเล่นดนตรีแต่ละอย่างได้คล่องต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ตอนหัดพิณอีสานยากที่สุดเพราะผมเป็นคนถนัดมือซ้าย แต่พิณอีสานที่โรงเรียนเป็นพิณของคนที่ถนัดมือขวาทั้งหมด” “วัฒน์” บอกถึงความยากในการฝึกเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ต้องใช้เวลาถึงอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะเล่นได้คล่อง
และด้วยฝีมือการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานของ “วัฒน์” และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ ที่บอกได้เลยว่า “ไม่ธรรมดา” จึงทำให้ได้ไปโชว์ฝีมือในงานของโรงเรียน ชุมชนและจังหวัด อย่างต่อเนื่อง เช่น งานช้างแฟร์ งานกาชาดจังหวัดสุรินทร์ และงานกาชาดอำเภอรัตนบุรี เป็นต้น ขณะที่ตัวของ “วัฒน์” เอง ยังได้ไปเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ได้รับรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เหรียญทองจากการแข่งขันเดี่ยวดนตรีพื้นบ้านโปงลางในงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ปี 2565 รางวัลเหรียญทองรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันเดี่ยวดนตรีพื้นบ้านเดี่ยวโหวด และรางวัลเหรียญทองชนะเลิศการแข่งขันเดี่ยวโปงลาง ในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ ปี 2566
หนุ่มคนนี้ได้วาดอนาคตเอาไว้ว่าตั้งใจจะเป็นครูสอนดนตรี เพื่อถ่ายทอดความรู้การเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานให้แก่คนรุ่นหลัง นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเยาวชนไทยที่มีความชื่นชอบและความรักในดนตรีพื้นบ้านอีสาน ทั้งมีความตั้งใจในการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป