โดย “จุดโฟกัสน่าสนใจ” ที่เรียกเสียงฮือฮามากเป็นพิเศษคือปีนี้กองทัพ 2 ประเทศจะเน้นหนักการ ฝึกเพื่อรับมือ “สงครามไซเบอร์-สงครามอวกาศ” ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า… “สมรภูมิในอวกาศ” นั้น…

“ไม่ใช่แค่นิยายวิทยาศาสตร์” อีกแล้ว

แต่ “มีแวว-มีท่าทีใกล้เป็นความจริง?”

กับแนวโน้มที่โลกในอนาคตอาจจะมีสถานการณ์ “สเปซวอร์” หรือ “สงครามอวกาศ” นั้น เรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยได้มีการนำการวิเคราะห์ บทวิเคราะห์โดยผู้สันทัดกรณี ทั้งด้านอวกาศ และด้านยุทธศาสตร์การทหาร มาสะท้อนเอาไว้หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งการสะท้อนเรื่องนี้ก็มิใช่ว่าจะทำให้ตระหนกตกใจ เป็นแต่เพียงนำเสนอให้คนไทยตื่นตัวติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้ตั้งรับปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะโลกยุคใหม่เรื่อง “ปรากฏการณ์อวกาศ” ไม่ได้ผูกโยงแค่เรื่องความเชื่อ-โหราศาสตร์แต่เกี่ยวพันชีวิตประจำวันของผู้คน จากการที่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

“ปรากฏการณ์อวกาศ” จึงน่าติดตาม

ก็เฉกเช่น “สถานการณ์ดาราศาสตร์”

ทั้งนี้ กับมุม “สงครามอวกาศ” ที่ไทยก็จะฝึกรับมือ…ก็ว่ากันไป ส่วนมุม “สถานการณ์ดาราศาสตร์” ที่ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติพบ “วัตถุอวกาศปริศนา” ที่อาจเป็น “หลุมดำที่เล็กที่สุด” หรือ “ดาวนิวตรอนที่ใหญ่ที่สุด” เท่าที่เคยค้นพบ…นี่ก็น่าตามดูว่ายังไงแน่?? และมุมดาราศาสตร์นี่ก่อนหน้านี้ NARIT หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็รวบรวม “ประเด็นน่าติดตาม ปี 2567” เผยแพร่ไว้ผ่านเฟซบุ๊กเพจของสถาบันฯ ซึ่งประเด็นต่าง ๆ นั้น โดยสังเขปก็มีดังต่อไปนี้…

“ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์” ที่เด่น ๆ ปีนี้ ได้แก่… ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้และไกลโลก โดย 24 ก.พ. ตรงกับวันมาฆบูชา จะเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ไกลโลกที่สุด (Micro Full Moon) ขณะที่วันที่ 17 ต.ค. ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุด (Super Full Moon), ดาวเคราะห์ใกล้โลก โดยวันที่ 8 ก.ย. ดาวเสาร์จะใกล้โลกที่สุด และวันที่ 8 ธ.ค. ดาวพฤหัสบดีจะใกล้โลกที่สุด, ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งที่ 1 วันที่ 25 ก.ค. ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ต.ค., ดาวเคียงเดือน วันที่ 8 ก.พ. ดาวอังคาร ดาวศุกร์ จะเรียงตัวเคียงดวงจันทร์ ส่วนวันที่ 6-7 เม.ย. ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ จะเรียงเคียงดวงจันทร์ และนอกจากนั้นยังมี ดาวเคราะห์ชุมนุม วันที่ 27 ม.ค. 23 ก.พ. 22 มี.ค. 11 เม.ย. 14 ส.ค. นี่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ปีนี้

Free photo spacecraft orbits planet in stunning outer space backdrop generated by ai

ขณะที่ “ภารกิจสำรวจอวกาศ” ที่สำคัญ ที่น่าสนใจในปีนี้นั้น ประกอบด้วยภารกิจต่าง ๆ ได้แก่… ภารกิจ Artemis II โดย NASA ได้ เตรียมส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง ในรอบกว่า 50 ปี, ยาน Europa Clipper โดย NASA จะ สำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ของดาวพฤหัสบดี,ยาน MMX จะไป สำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคาร โดย JAXA, ยาน Hera โดย ESA จะไป สำรวจดาวเคราะห์น้อย Didymos-Dimorphos …นี่เป็นภารกิจสำคัญในปี 2567 ด้านการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์โลก

ทั้งนี้ ขยับใกล้ตัวคนไทยขึ้นอีก… “ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับประเทศไทย” ที่น่าสนใจในปีนี้ ก็มีปรากฏการณ์-ภารกิจทางดาราศาสตร์น่าติดตามหลายเรื่อง อาทิ… การ เตรียมติดตั้งเครือข่ายกล้อง โทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ที่เชียงใหม่ และสงขลา, การ เตรียมปล่อย NARIT Cube-1 ดาวเทียม CubeSat ฝีมือคนไทย ที่มีแผนจะปล่อยสู่อวกาศภายในปี 2567 นี้, การ เตรียมเผยโฉม TSC-1 พร้อม Payload ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ที่มีแผนจะประกอบขึ้นในห้องปฏิบัติการ Clean Room ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่

ทางด้าน “ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ” ในปีนี้ ไทยก็มี โครงการความร่วมมือไทย-จีน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถคนไทยด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึก รวมถึง ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ที่จะถูกนำเอาไปติดตั้งให้ไปกับยานฉางเอ๋อ 7 ของจีน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ในขณะที่จีนเองก็มีแผนจะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2569

นี่เป็น “ความก้าวหน้าด้านอวกาศ”

ที่ “ไทยก็มีความก้าวหน้าน่าตามดู”

และกับ “ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ” เช่นกันกับไทยในปีนี้ก็ยังมีเรื่องการ ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง NARIT ททท. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ร่วมกันผลักดันให้พื้นที่ต่าง ๆ ร่วมเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเพื่อเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์” แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแล้ว 30 แห่ง และอีกเรื่องที่ก็น่าสนใจคือการ ก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 5 ของไทย ที่พิษณุโลก ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็จะเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคกลางตอนบนสำหรับประเทศไทย…

เหล่านี้คือเรื่อง “ดาราศาสตร์-อวกาศ”

คือ “ประเด็นที่น่าสนใจในปี 2567” นี้

ที่ “ไทย-คนไทย…มิใช่แค่รอดูอีกแล้ว”.