จนถึงขณะนี้ นาจิบรับโทษจำคุกแล้ว 17 เดือน จากเวลาทั้งหมด 12 ปี ในคดีการยักยอกเงิน 42 ล้านริงกิต (ราว 314 ล้านบาท) จาก “เอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล” หนึ่งในกองทุนย่อยของกองทุนพัฒนาแห่งชาติ (วันเอ็มดีบี) ซึ่งเขาดำเนินการอุทธรณ์ทางกฎหมายทั้งหมดแล้ว และจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ด้วยการพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียเท่านั้น

นอกจากนี้ นาจิบยังเผชิญกับคดีอาญาที่กำลังดำเนินอยู่อีก 3 คดี ได้แก่ ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการรับเงินอย่างผิดกฎหมาย มูลค่า 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,000 ล้านบาท) จากกองทุนวันเอ็มดีบี ผ่านบริษัทเปล่า “ทานอร์ ไฟแนนซ์” ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน, การฟอกเงิน 27 ล้านริงกิต (ราว 202 ล้านบาท) ที่เป็นของเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล และการทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงิน 6,600 ล้านริงกิต (ราว 50,000 ล้านบาท) ในกองทุนรัฐบาล ที่จ่ายให้กับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม อินเวสต์เมนต์ คอมปานี (ไอพีไอซี) ของรัฐบาลอาบูดาบี

ด้านนางอารินาห์ นัจวา ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา “บาวเวอร์กรุ๊ปเอเชีย” กล่าวว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้การพูดคุยเรื่องการพระราชทานอภัยโทษ เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งคณะกรรมการอภัยโทษ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรแนะนำการปล่อยตัวนาจิบ หลังจากเขาถูกตัดสินโทษหรือไม่

“ชื่อเสียงของประเทศอาจได้รับผลกระทบ หากพวกเขาตัดสินใจอภัยโทษนาจิบ เนื่องจากมันอาจส่งผลต่อการรับรู้ของผู้นำและนักลงทุนของประเทศอื่น ๆ ที่มีต่อมาเลเซีย” อารินาห์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การปล่อยตัวนาจิบ จะมีผลกระทบทางการเมือง เนื่องจากเขายังถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวมาเลเซีย และอาจช่วยเรียกคืนเสียงสนับสนุนให้กับพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งนาจิบยังคงมีอิทธิพลอยู่มาก และอัมโนเป็นพรรคพันธมิตรในรัฐบาลเอกภาพของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันด้วย

อีกทั้งการคาดการณ์เกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการอภัยโทษ ยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนสุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ แห่งรัฐยะโฮร์ จะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 17 แห่งมาเลเซีย ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อาห์หมัด ชาห์ จากรัฐปะหัง ในวันที่ 31 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ คณะกรรมการอภัยโทษของมาเลเซีย ซึ่งนำโดยสมเด็จพระราชาธิบดี ประกอบด้วยอัยการสูงสุด หรือตัวแทนอัยการสูงสุด, รมว.ดินแดนสหพันธ์ของมาเลเซีย และสมาชิกคนอื่น ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยสมเด็จพระราชาธิบดี อีกไม่เกิน 3 คน โดยสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจ ในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้กระทำผิด ซึ่งคล้ายคลึงกับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีในสิงคโปร์ และสหรัฐ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES