โดยทางโรงพยาบาลได้นำมาเล่าสู่กันฟังผ่านการเสวนาเล็ก ๆ เรื่อง “สุขภาพดี…ด้วยวิถีสุขภาวัฒน์” นำทีมโดย นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผอ.รพ.พระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี และผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลฯ ร่วมให้ข้อมูล
ซึ่งในเวทีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันต่อการรักษาโรคก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ “ภาวะทางใจ” ของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาโรคต่าง ๆ หายได้หรือไม่ ดังนั้น รพ.พระจอมเกล้าฯ จึงผสานสองสิ่ง เสริมกับวัฒนธรรมที่ดี ๆ ของจังหวัดเพชรบุรี ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกมาเป็น “วิถีสุขภาวัฒน์” ขยายผลสู่การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม มีกิจกรรมชมวิว 360 องศา บนยอดเขาพนมขวด, มีเวิร์ก ช็อปสมุนไพร เช่น พวงมโหตรหอม ชาชงสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร, ศาสตร์การแพทย์แผนไทย เช่น นวดเท้า ประคบสมุนไพร พอกตา การทำสมาธิบำบัดแบบพระจอมเกล้า เป็นต้น
“นโยบายรัฐบาลอยากจะให้เศรษฐกิจดีเชื่อมโยงกับสุขภาพดีจึงคิดว่าแนวคิดสุขภาวัฒน์น่าจะเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทยที่จะประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาหรือศาสตร์การแพทย์ที่เรามีอยู่หลาย ๆ อย่างนั้นมาส่งเสริมการแพทย์แผนปัจจุบัน ให้สามารถดูแลผู้ป่วยองค์รวม และบรรลุเป้าหมายความสำเร็จมากขึ้น”
อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มาด้วยแขนขาอ่อนแรงอัมพฤกษ์อัมพาตขยับไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เขาต้องการมากอันดับแรกและควรที่จะได้รับการดูแลก่อนคือเรื่องสภาพจิตใจ เดิมหมอจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้ไม่ยอมทำกายภาพ ไม่ยอมกินยา ทั้ง ๆ ที่หากทำสิ่งเหล่านี้แล้วมีโอกาสหาย และกลับมาเดินได้ บางคนมาด้วยภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล แต่ตอนนี้หมอเข้าใจแล้วว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้วต้องมาอยู่ในกรอบของ รพ.ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ ขณะที่หมอก็ติดอยู่กับกรอบการรักษาและไม่สามารถเข้าสู่วิถีของคนไข้ได้ ทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จเพราะมองการรักษาเชิงกายภาพอย่างเดียว
ดังนั้น การดำเนินการตามวิถีสุขภาวัฒน์จึงตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ขอยกตัวอย่าง “พวงมโหตรหอม” ที่เป็นหนึ่งในโปรแกรมสุขภาวัฒน์ เดิมใช้สมุนไพรสดใส่ในพวงมโหตรเพื่อนำมาใช้เพื่อการบำบัดด้วยกลิ่น ต่อมามีการพัฒนาเป็น “กลิ่นสุขภาวัฒน์” โดยใช้ของขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี คือ “มะนาวแป้นเพชรบุรี” ให้กลิ่น Citrus เกลือทะเลเพชรบุรี ให้กลิ่น Aquatic และกลิ่นของการเหยียบหญ้าหลังฝนตกของผืนป่าแก่งกระจานให้กลิ่น Geednote และผสมกลิ่นที่สดชื่นหอมของดอกไม้สีขาว
นอกจากนี้ การตัด การพับพวงมโหตรเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ช่วยฟื้นฟูสมอง จึงนำมาใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยและญาติ ๆ ได้ทำร่วมกัน มีการเปิดเพลง มีการพูดคุยกัน ทำให้เกิดเป็นช่วงกิจกรรมที่มีคุณค่าร่วมกันก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างมีความสุขทั้งตัวผู้ป่วย และญาติที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้รับการปรึกษา 100% จากทีมที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
“ทางโรงพยาบาลมีการวัดค่าความสุขก่อนและหลังใช้พวงมโหตรในการดูแลผู้ป่วย 24 ราย ซึ่งจะเขียนเป็นงานวิจัยการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย หรือ R2R เกี่ยวกับผู้ป่วยไปสู่วาระสุดท้ายอย่างไร ซึ่งจากการดำเนินการมา 1 ปี พบค่าความสุขก่อนและหลังทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น มีญาติผู้ป่วยมารับพวงมาโหตรกลับไปใช้ที่บ้านด้วย”.
อภิวรรณ เสาเวียง