ผลการเลือกตั้งทั่วไปของไต้หวัน ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ในส่วนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ถือว่าเหนือความคาดหมาย โดยผู้ชนะคือ นายไล่ ชิง-เต๋อ รองผู้นำคนปัจจุบัน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ( ดีพีพี ) ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุด 40% หรือราว 5.58 ล้านคะแนน
ตามด้วยนายโหว โหย่ว-อี๋ จากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนราว 33.49% คิดเป็นคะแนนดิบประมาณ 4.67 ล้านคะแนน และนพ.เคอ เหวิน-เจ๋อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน ( ทีพีพี ) พรรคการเมืองที่ขอเป็นทางเลือกจากอีกสองพรรคใหญ่ ซึ่งตอนแรกเกือบบรรลุข้อตกลงกับพรรคก๊กมินตั๋ง ในการร่วมส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่ท้ายที่สุดตกลงกันไม่ได้ โดยนพ.เคอ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนราว 3.69 ล้านคะแนน คิดเป็น 26.46%
ขณะที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สภาหยวน ชุดใหม่ทั้ง 113 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคก๊กมินตั๋ง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 52 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคดีพีพี 51 ที่นั่ง พรรคทีพีพี 8 ที่นั่ง ส่วนอีกสองที่นั่งที่เหลือเป็นของสมาชิกอิสระ
ด้านจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ราว 71% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 19 ล้านคน ลดลง 3% จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2563 นอกจากนี้ ไล่ถือเป็นว่าที่ผู้นำไต้หวันซึ่งได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2543 ยิ่งไปกว่านั้น พรรคดีพีพียังสูญเสียหารครองเสียงข้างมากในสภาหยวน แม้ยังคงเป็นรัฐบาลอยู่ก็ตาม
นั่นหมายความว่า การทำงานของรัฐบาลและการใช้อำนาจของไล่ในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งจะเริ่มงานต่อจากประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ในวันที่ 20 พ.ค. 2567 น่าจะหืดขึ้นคอไม่ใช่น้อย เนื่องจากพรรคดีพีพีกับฝ่ายค้าน มีจุดยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจนในหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งไล่ส่งสัญญาณประนีประนอมออกมาก่อนแล้ว ว่ายินดีพิจารณานโยบายของพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคทีพีพี อีกทั้งจะจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้กับทั้งสองพรรค ด้วยความหวังว่า การทำงานจะเป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ดี ในด้านการต่างประเทศ ถือว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาอาจเรียกได้ว่า เป็นการรักษาสมดุลสามฝ่าย ระหว่างไต้หวันกับจีนและสหรัฐ ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบนับจากนี้แม้จะยังคงตึงเครียด แต่นโยบายของทุกฝ่ายในภาพรวมไม่น่าเปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยง และความวิตกกังวลของหลายฝ่ายไปได้พอสมควร ว่าความขัดแย้งจะลุกลาม โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งต่างจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
กระนั้น จีนเดินเกมการทูตหลังม่านชนิดที่เรียกว่า “เร็วเหนือความคาดหมาย” เนื่องจากหลังการเลือกั้งผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่วัน นาอูรู หนึ่งในประเทศซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยมีประชากรราว 12,500 คน และตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งเมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 4,000 กิโลเมตร ประกาศการยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ที่แปลว่า คือการสถาปนาความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบ และเป็นทางการ กับรัฐบาลปักกิ่ง
อนึ่ง ไต้หวันกับนาอูรูเคยตัดความสัมพันธ์ที่ยาวนาน 17 ปี มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือน ก.ค. 2545 แต่หลังจากนั้นมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในปี 3 ปีต่อมา คือเมื่อปี 2548 นาอูรูจึงมีความสำคัญทางการทูตอย่างมากสำหรับไต้หวัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ดังนั้น การที่นาอูรูยุติความสัมพันธ์ ทำให้ตอนนี้เหลือเพียง 12 ประเทศบนโลกเท่านั้น ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบกับไต้หวัน ซึ่งรวมถึง วาติกัน กัวเตมาลา เบลีซ เฮติ และปารากวัย และยิ่งเป็นการเพิ่มความหวาดหวั่นใจให้กับไต้หวันในอนาคต จากการที่ตลอด 8 ปี ในยุครัฐบาลไช่ จีนสามารถเดินเกมการทูตให้ 10 ประเทศ “เปลี่ยนข้าง” จากไต้หวัน มาอยู่กับรัฐบาลปักกิ่ง
แม้ไล่ยืนยันว่า จะสานต่อนโยบายการต่างประเทศแทบทั้งหมดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่แน่นอนว่า จีนไม่มีทางพอใจ และส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งยุติการติดต่อทุกช่องทางในระดับรัฐกับไต้หวัน ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ไช่รับตำแหน่ง แต่ว่าที่ผู้นำไต้หวันคนใหม่วัย 64 ปี ยังคงพยายามแสดงท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลปักกิ่ง โดยกำหนดเงื่อนไขเพียงว่า “ขอให้มีความเท่าเทียม”
ขณะที่สหรัฐซึ่งแน่นอนว่า เป็นผู้สนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการทหาร ยังคงเน้นย้ำ “การยึดมั่นต่อหลักการจีนเดียว” และ “การไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน” แต่ตราบใดที่การแสดงออกของรัฐบาลวอชิงตันทุกยุคทุกสมัยในเรื่องไต้หวัน ยังคงสวนทางกับคำพูดที่ออกมา แน่นอนว่า ไต้หวันจะยังคงเป็น “เรื่องกวนใจ” ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่ตลอด ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างรู้ไส้รู้พุงกันดี ว่าอีกฝ่ายจะเดินเกมอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การที่จีน “นิ่งและเงียบผิดคาด” หลังการเลือกตั้งของไต้หวันครั้งล่าสุดผ่านพ้นไป แม้สหรัฐส่งคณะผู้แทนเยือนกรุงไทเป รัฐบาลปักกิ่งเพียงออกมาตอบโต้ “ตามปกติ” อาจเป็นสัญญาณของความหวาดหวั่น และความน่าอึดอัดของความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ ที่จะคงเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP