นี่เป็นการสะท้อนถึง “อุบายฮิต” ที่มิจฉาชีพทุกยุคทุกสมัยนั้น “ยังใช้ได้ผล” แม้จะเข้าสู่ “ยุคออนไลน์-ยุคดิจิทัล” แล้วก็ตาม ที่ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ และสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งตอนที่แล้วเราดูกันไปส่วนหนึ่งแล้ว…กับการฉายภาพ “ปรากฏการณ์หลอกลงทุน” ที่อาละวาดหนัก…

ดู ๆ แล้ว “ปี 2567 ก็จะยังเป็นภัยฮิต”

ภัย “มิจฉาชีพออนไลน์ตุ๋นให้ลงทุน!!”

เกี่ยวกับ “มุมวิเคราะห์” ต่อกรณี “ภัยออนไลน์” อย่างการ “หลอกลวงให้ร่วมลงทุน” นั้น เรื่องนี้ทาง ดร.ภูษิต ยังได้มีการระบุไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” อีกว่า… กรณีการ หลอกให้ลงทุน ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่ ภัยไซเบอร์ บางส่วน อย่างไรก็ตาม นอกจากภัยหลอกลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังมีกรณีหลอกลงทุนประเภทอื่น ๆ ที่สร้างปัญหาอีก อาทิ หลอกลงทุนหุ้น รวมถึง หลอกลงทุนเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน ซึ่งแต่ละเคส แต่ละประเภทนั้น ทำให้ เหยื่อที่ถูกหลอกลวงเสียหายอย่างหนัก จนทำให้กรณีหลอกลงทุนนั้น…มีมูลค่าความเสียหายสูงลิ่วหลักหมื่นล้านบาท!!…

ทั้งนี้ ทาง ดร.ภูษิต ยังได้ระบุถึง “ลักษณะการถูกหลอกลงทุน” ว่า… ปัจจุบันนอกจากกลุ่มผู้ใหญ่แล้ว กลุ่มเด็กและวัยรุ่นก็เป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ที่พบบ่อยจะเป็นการ “ถูกหลอกลงทุนออนไลน์” เกี่ยวกับ เงินสกุลดิจิทัล กับ ลงทุนในเกม NFT ที่ในไทยเคยมีกระแสโด่งดังเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เช่น Crypto Mines และไม่เฉพาะแค่คนไทยที่ถูกหลอก แต่ในหลาย ๆ ประเทศก็มีเหยื่อที่สูญเสียเงินให้กับกลุ่มขบวนการลักษณะนี้จำนวนไม่น้อย ขณะที่เหยื่อ กลุ่มวัยกลางคน-กลุ่มผู้สูงอายุ นั้น ก็มักจะ “ถูกหลอกให้ลงทุนเกี่ยวกับฌาปนกิจสงเคราะห์” มากที่สุด …นี่เป็นรูปแบบที่พบตามช่วงวัยต่าง ๆ

นักวิชาการท่านเดิมระบุเพิ่มเติมว่า… ที่จะเห็นได้ชัดก็คือ ปัจจุบันการหลอกให้ลงทุนนั้นพัฒนารูปแบบไปเยอะ จากในอดีตที่เหยื่อมักถูกหลอกผ่านคนที่รู้จัก เคยเห็นหน้า รู้จักชื่อนามสกุล รู้ว่าบ้านอยู่ไหน ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะไม่รู้เลยว่าคนที่เข้ามาชักชวนคือใคร เพราะข้อมูลถูกตกแต่งขึ้น และที่พบบ่อย ๆ ระยะหลังคือ…ใช้รูปคนดังเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ

และโฟกัสกันที่การ “หลอกลงทุนผ่านออนไลน์” นี่กรณีนี้ทาง ดร.ภูษิต ก็ยังระบุว่า… เคสหลอกลงทุนออนไลน์นั้น มิจฉาชีพมักจะเล่นกับเหยื่อด้วยจิตวิทยา โดยจะเริ่มต้นจากการ… “แปลงร่างมิจฉาชีพเป็นมิตรภาพ” ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองประสบความสำเร็จ หรือโชว์ภาพการใช้ชีวิตแบบ…กินหรู อยู่สบาย โดยใช้ ข้อความดึงดูดใจเหยื่อ เช่น อยากแบ่งปันความรวย อยากชี้ช่องทางทำเงินให้ และหลังจากเหยื่อหลงเชื่อ หรือเกิดความสนใจ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ มิจฉาชีพก็จะ “จูงใจด้วยเรื่องตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเว่อร์” พร้อมแสดงความหวังดีว่าอยากให้เหยื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น

เมื่อเหยื่อลงทุนก็จะล่อให้งับแรงขึ้น

ให้ผลตอบแทนจริง “พอลงเพิ่มก็ชิ่ง”

กับ “ปุจฉา” ที่หลายคนสงสัย??… ที่ผ่านมาก็มีคำเตือนอยู่โดยตลอด แต่เหตุไฉนจึงยังมีเหยื่อเพิ่ม?? วิสัชนาเรื่องนี้ทาง ดร.ภูษิต วิเคราะห์ว่า… เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี…การหลอกลงทุนก็จะยิ่งขยายวงกว้างขึ้น เพราะ มิจฉาชีพรู้จักอารมณ์ผู้คนดี ซึ่งเมื่อคนเริ่มเกิดความรู้สึกว่า… เงินในกระเป๋าไม่พอใช้ คนก็จะยิ่งต้องดิ้นรนหาเงินเพิ่มขึ้น และในโลกออนไลน์แบบนี้ยิ่งง่ายที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัวเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการสร้างโปรไฟล์หรือเพจปลอมขึ้นมาเพื่อชักชวนหลอกคนให้ลงทุน

“ที่น่าสงสารคือ บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะเอาเงินออมที่มีทั้งหมดในชีวิตมาลงทุนกับมิจฉาชีพ ซึ่งเคสแบบนี้มีเหยื่อผู้สูงอายุวัยเกษียณเยอะมาก เนื่องจากมีรายได้ไม่พอใช้ดำรงชีพ และอีกปัจจัยที่พบเยอะก็คือ ผู้สูงอายุอยากมีเงินสักก้อนไว้ดูแลตัวเอง เพราะไม่ต้องการเป็นภาระครอบครัวหรือลูกหลาน” …เป็นภาพที่ ดร.ภูษิต สะท้อนไว้ ที่จาก “ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์” ก็อาจลุกลามเป็น “ปัญหาสังคม” กลายเป็น “ระเบิดเวลา” อีกลูกหนึ่งของไทย

ทั้งนี้ “หลักสังเกต” เพื่อ “ระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ” นั้น ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล แนะนำว่า… เพจหลอกลงทุนออนไลน์มักนิยมใช้อุบายอย่าง “ประโยคเชิญชวน” เช่น… “ลงทุนน้อย ผลตอบแทนมาก” หรือ “ลงทุนไว ได้ผลตอบแทนเร็ว” ซึ่งเป็นวิธีที่มิจฉาชีพมักใช้เร่งรัดให้เหยื่อตัดสินใจ จะมีการย้ำบ่อย ๆ เกี่ยวกับการ “รับประกันผลประโยชน์” เพื่อจะจูงใจให้เหยื่อรู้สึกเชื่อถือ มีการ โชว์รูปคนดัง คนมีชื่อเสียง นักธุรกิจ เพื่อจะให้เหยื่อเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อใจ …นี่เป็น “กลยุทธ์มิจฉาชีพ” ที่มักจะใช้เพื่อ “หลอกเหยื่อให้หลงกล” ซึ่งกับ “แนวทางป้องกันตัว” นั้น ผอ.หลักสูตร aMBA ยังระบุว่า…

“มีหลักกว้าง ๆ ที่ยังพอใช้ได้คือ 1.ต้องไม่เชื่อ…คำเชิญชวนการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง 2.ต้องตรวจสอบละเอียด…ว่าองค์กรนั้นมีจริงมั้ย แม้ยุคนี้สามารถปลอมเอกสารได้ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงลงระดับหนึ่ง 3.ศึกษาหาความรู้…เกี่ยวกับการลงทุนให้ดี ซึ่งจำไว้ว่า…ถ้าไม่มีความรู้ในทรัพย์สินที่ลงทุนก็อย่าเสี่ยงลงทุน” …ดร.ภูษิต ทิ้งท้าย

กับกรณี…”ภัยหลอกลงทุนออนไลน์”

ที่ “ปีนี้อาจจะยิ่งแรงแซงทุกภัยตุ๋น”

“ระวังเป็นเหยื่อ!!” ถึงขั้นหมดตัว!!.