นับเป็นข่าวเอ็กซ์คลูซีฟของเดลินิวส์ ได้นำเสนอตีแผ่เรื่องราว ปัญหาตัดไม้พะยูง ในพื้นที่ราชพัสดุ จ.กาฬสินธุ์ และอีกหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ตั้งแต่ปี 2566 ตามเกาะติดข่าวแบบเจาะลึก จนไปพบปม ความไม่ชอบมาพากล เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง?

ขบวนการไม้พะยูงยุคใหม่ ไม่ต้องเสาะแสวงหา บุกป่าฝ่าดงเข้าไปแอบลักตัดไม้พะยูงในป่าเหมือนแต่ก่อน ขุมทรัพย์ไม้พะยูง มูลค่ามหาศาล มีอยู่มากมายตามโรงเรียน วัด ป่าชุมชน ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

เจ้าหน้าที่บางกลุ่ม เห็นแก่เงิน รวมหัวกับ นายทุนค้าไม้ มีทั้งใช้แผนง่าย ๆ ชี้เป้าหมายเลือก ต้นพะยูงสูงใหญ่ ที่อยู่ตามที่ราชพัสดุ ยามค่ำคืนทางสะดวก จะมี “มือมืด” เข้าไปใช้เลื่อยยนต์ลักลอบตัดแล้วเผ่นหนี เมื่อจับมือใครดมไม่ได้ ไม้พะยูงใหญ่เนื้อดีก็จะกลายเป็น ไม้ของกลาง จากนั้นพ่อค้ารอเวลา ส่งทีมงานมา ประมูลราคาต่ำ กลายเป็นว่า “ฟอกขาวไม้เถื่อน” ได้ใบอนุญาตซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย ส่งไปขายต่อต่างประเทศฟันกำไรเละ

กระทั่งมาโป๊ะแตก กลางปี 2566  ฟ้าดินมีตาช่วย กระชากหน้ากากขบวนการค้าไม้พะยูง ที่ไม่พอใจหักราคากันเองถึงขั้นยกพวกบุก ขโมยไม้ของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท  จากบริเวณหน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เดลินิวส์เกาะติดนำเสนอจนตำรวจออกหมายจับ ผอ.ศูนย์ฯป่าไม้ และลูกน้อง, นายก อบต., พนักงานขับรถ, กำนัน และ ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งข้อหา “8 เจ้าหน้าที่” ยักยอก
ของหลวง
(ไม้พะยูงของกลาง)

นอกจากพฤติกรรมรวมหัวกันประมูลไม้พะยูงของกลางราคาต่ำแล้ว ในห้วงเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่บางกลุ่มใช้ช่องโหว่กฎหมายเป็นข้ออ้าง ตัดไม้พะยูงใหญ่ ตามโรงเรียนหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ อ้างตัวเองมีอำนาจ จนชาวบ้านและครูทนไม่ไหว เห็นเดลินิวส์กำลังนำเสนอข่าวไม้พะยูงจึงส่งหลักฐานเอกสารใบเสร็จรับเงิน มาให้ช่วยตีแผ่ โดยเฉพาะที่ โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี มีใบเสร็จประมูล 22 ต้น ราคา 1.5 แสน ชำระเงินเรียบร้อย ขณะนั้น นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ เป็น ผวจ.กาฬสินธุ์ รู้เรื่องสั่งเบรกทันควันไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง ถึงกับอุทาน ’ปล่อยให้ตัดได้ยังไง!!“ เมื่อสอบถามก็ทราบว่าดำเนินการกันเอง คือ ผอ.โรงเรียนฯ, ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ, ธนารักษ์พื้นที่

โดยอ้างเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู ยื่นเรื่องขออนุญาตจากธนารักษ์ฯ จากนั้นตั้งคณะกรรมการมี จนท.ป่าไม้ เข้ามาร่วมประเมินราคาไม้ แต่เมื่อ ผวจ.กาฬสินธุ์ นำ คณะผู้เชี่ยวชาญไม้ กรมป่าไม้ เข้าไปร่วมตรวจวัดปริมาตรและประเมินราคาไม้พะยูง จาก ตอ 17 ต้นที่ถูกตัด คำนวณตามราคามาตรฐานแล้วสูงถึง 4,500,000 บาท สุดท้ายข้อมูลการเข้าไปตัดไม้พะยูงตามโรงเรียนในพื้นที่กาฬสินธุ์อีกหลายแห่งจึงถูกตีแผ่ พฤติกรรมและรูปแบบไม่แตกต่างจาก โรงเรียนคำไฮวิทยา กระทั่ง นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หยิบยกเข้าไปถกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติขอให้สภา พิจารณาปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ของส่วนราชการทั่วประเทศ

ส่วนทาง กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ส่งผู้ตรวจราชการลงพื้นที่ ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมออกโรง สั่งห้ามตัดไม้มีค่าในพื้นที่ราชพัสดุทุกชนิด ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น!! ล่าสุดช่วงปลายปี 66 รศ.ดร.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปให้ข้อมูล เพราะมี เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่และผู้ติดตามข่าว ต่างจับตาผลสอบของกรมธนารักษ์ รายงานไปให้ ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบบ้างหรือยัง สรุปลงเอยอย่างไร?  “ผู้เกี่ยวข้อง” มีอำนาจให้ตัดไม้มีค่าในที่ราชพัสดุจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ปัญหานี้ภาครัฐ นอกจากโดนฉ้อฉล ประมูลไม้พะยูงราคาต่ำแล้ว ยังต้องสูญเสียไม้ล้ำค่าของไทย ถูกส่งออกไปต่างชาติอีก!

————————
เชิงผา