พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์​”เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม 2564

@ “เบิ่งฟ้า มีแต่น้ำ เบิ่งดินซ้ำ น้ำตานอง” ท้องนากลายเป็นท้องน้ำ ไกลสุดลูกหูลูกตา ดั่งทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ จากอิทธิพลพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ที่ผ่านมา…ได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้รับผลกระทบฝนตกหนัก แล้วเกิดน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำจากเทือกเขา น้ำล้นเขื่อน อ่างเก็บน้ำแตก (ทางการเรียก​”อ่างชำรุด”) มวลน้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน แบบไม่ทันตั้งตัว สร้างความเสียหายสุดเหลือคณานับ ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ห้องหอ ไร่นา เรือกสวน ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ มูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา

@ จ.ชัยภูมิ…ได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุดจากอุทกภัย หลังถูกพายุ “เตี้ยนหมู่” ถล่มตั้งแต่วันแรก จนถึงขณะนี้น้ำยังท่วมหนักในเขตเศรษฐกิจเมืองชัยภูมิ และอำเภอรอบนอกเสียหายหนัก ได้ประกาศภัยพิบัติแล้วจำนวน 14 อำเภอ ที่น้ำป่าหลากจากทั้งเทือกเขาภูเขียว เทือกเขาภูแลนคา และเทือกเขาพังเหย ในพื้นที่ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำล้นลำน้ำชี หลากท่วมพื้นที่ทางการเกษตร เป็นวงกว้าง อย่างไม่ทันเตรียมตั้งตัว โดยเบื้องต้นหน่วยงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยภูมิ พบมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเสียหายรวมแล้วกว่า 228,840 ไร่ หนักสุดในเขตอำเภอเมือง ย่านกลางใจเมือง ถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้าง รวมแล้วอีกกว่า 68,324 ไร่ และ จ.ชัยภูมิ ได้ประกาศให้มีพื้นที่เป็นเขตประสบภัยพิบัติน้ำท่วมหนักแล้วรวม 14 อำเภอ จาก 16 อำเภอ ประกอบด้วย 1.อ.เมืองชัยภูมิ 2.อ.คอนสวรรค์ 3.อ.เนินสง่า 4.อ.บ้านเขว้า 5.อ.จัตุรัส 6.บำเหน็จณรงค์ 7.อ.เทพสถิต 8.อ.ภักดีชุมพล 9.อ.หนองบัวระเหว 10.อ.หนองบัวแดง 11.อ.เกษตรสมบูรณ์ 12. อ.ภูเขียว 13. อ.คอนสาร และ 14.อ.บ้านแท่น (เหลือเพียง 2 อำเภอที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ คือ อ.แก้งคร้อ และ อ.ซับใหญ่)

@ นอกจากนี้ น้ำท่วมยังคงขยายทั่วทุกพื้นที่ ล่าสุดมวลน้ำจากลำชี ได้กัดเซาะพนังกั้นลำน้ำชีแตก ที่บ้านโคกชาดหมู่ 6 ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส ขาดเป็นบริเวณกว้าง ยาวกว่า 20 เมตร มวลน้ำยังคงทะลักท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร บ้านโนนเชือก บ้านโคกชาด บ้านส้มป่อยโนนม่วง และหมู่บ้านใกล้เคียง รวม 5 หมู่บ้าน เสียหายจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ต.โคกสะอาด ต.ห้วยแย้ ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กว่า 10 หมู่บ้าน ต้องถูกตัดขาด เนื่องจากมวลน้ำจากเทือกเขาพังเหย และแม่น้ำชี ยังคงไหลทะลักเข้าท่วม ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม และมวลน้ำจากอ่างห้วยทราย ได้ไหลทะลัก ท่วมถนน เชื่อมต่อ ต.บ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ บริเวณ สะพานห้วยทราย เชื่อมต่อเขตพื้นที่ ต.ตะโกทอง อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ ขาดเสียหาย ชาวบ้านที่สัญจรไปมา ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

@ ส่วน จ.นครราชสีมา..รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ขณะนี้ รวม 18 อำเภอ 69 ตำบล 279 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ประชาชนประสบภัยพิบัติ รวม 8,787 ครัวเรือน โรงเรียน 3 แห่ง วัด 6 แห่ง ถนน 259 สาย ท่อระบายน้ำ 4 จุด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว รวม 5 อำเภอ 8 ตำบล 9 หมู่บ้าน คงเหลือ 13 อำเภอ 68 ตำบล 251 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ความเสียหายด้านการเกษตร 23 อำเภอ 159 ตำบล 33,923 ครัวเรือน คาดว่าจะเสียหาย ข้าว 131,674 ไร่ มันสำปะหลัง 124,888 ไร่ ข้าวโพด 29,988 ไร่ อ้อย 740 ไร่ พืชผักอื่นๆ 245 ไร่ พืชสวน 589 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดจะเร่งหาทางเยียวยาช่วยเหลือ และเร่งสำรวจความเสียหายอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

@ ที่ จ.อุบลราชธานี…”นายวิรุจ วิชัยบุญ” รอง ผวจ. เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจังหวัดอุบลฯ เป็นปลายทางของแม่น้ำมูล อีกไม่กี่วันจะมีมวลน้ำมหาศาลไหลผ่าน ทำให้น้ำท่วมทุกปี ซึ่งขณะนี้ที่เขื่อนปากมูลได้เปิดประตูระบายน้ำครบทุก 8 บานแล้ว เพื่อระบายน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมกับได้ลงพื้นที่ริมแม่น้ำมูล เพื่อติดตามการวางแนวป้องกันน้ำท่วม และที่ชุมชนริมแม่น้ำมูล ท่าน้ำตลาดใหญ่ ท่าน้ำวัดหลวง เจ้าหน้าที่ได้ปักธงแดงเตือนประชาชน เพื่อเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะน้ำท่วมแล้ว

@ ในขณะเดียวกัน…”นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี พร้อมด้วย “นายสิริวัฒน์ ปานดำ” หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 มีนายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายสุชาติ เดชพิทักษ์ ผอ.ส่วนเครื่องจักรกล และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เร่งดำเนินการให้เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายวางแนวกั้นน้ำช่วยเหลือประชาชนในเขตอำเภอเมือง และ อ.วารินชำราบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ในการเพิ่มขึ้นของน้ำในแม่น้ำมูล เนื่องจากริมแม่น้ำมูลทั้งสองฝั่ง มีชุมชนอาศัยอยู่จำนวนมาก พื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำติดริมน้ำมูล โดยคณะได้ลงพื้นที่ ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนท่าบ้งมั่ง ที่ประตูระบายน้ำวัดเสนาวงศ์ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งได้เดินเครื่องเพื่อเร่งสูบระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำมูล และที่ฝั่ง อ.เมืองอุบลฯ ที่บ้านท่ากกแห่ หาดคูเดื่อ ชุมชนวังแดง ท่าน้ำวัดหลวง น้ำแม่น้ำมูลได้เริ่มไหลท่วมพื้นที่บางแห่งแล้ว ซึ่งชาวบ้านได้เตรียมตัวอพยพหนีน้ำ เพราะเกรงน้ำจะท่วมใหญ่ซ้ำรอยอีกครั้ง

@ ส่วนที่ จ.ยโสธร…”นายสมเพชร สร้อยสระคู” รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง แจ้งว่าจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ทำให้ปริมาณฝนตกหนักทางตอนบน และตลอดพื้นที่ลำน้ำชี ส่งผลให้ปริมาณน้ำของลำน้ำเซบายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 จึงได้ดำเนินการเพิ่มการระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำรองรับมวลน้ำทางตอนบนดังกล่าว โดยปัจจุบันระดับน้ำด้านหน้าเขื่อนและด้านท้ายเขื่อนยโสธร-พนมไพร ต่างกันน้อยกว่า 50 ซม. ติดต่อกัน 3 วัน ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรงรักษาชีล่างเซบายล่าง จะดำเนินการแขวนบานประตูระบายน้ำ ยกบานพ้นน้ำ เพื่อให้น้ำไหลตามธรรมชาติภายในวันที่ 28 กันยายน 2564 จึงขอให้หัวหน้าส่วนราชการ อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนการแขวนบานประตูระบายน้ำ (ยกบานพ้น) เขื่อนยโสธร-พนมไพร ให้ราษฎรในพื้นที่รับผิดชอบ ที่อาศัยอยู่ และทำกินตามลำน้ำชีตอนล่าง เก็บอุปกรณ์เครื่องมือ-เครื่องใช้ในการทำการประมงและทำการเกษตร เช่นเครื่องสูบน้ำ ตาข่ายดักปลาเรือ ตลอดจนการปรับระดับแพสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น/ลดลง และยกข้าวของขึ้นที่สูง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ
และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของราษฎรและราชการ และเนื่องจากมวลน้ำทางตอนบนมีจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำเอ่อลันเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด

@ ไปที่ จ.อำนาจเจริญ…”นายมนตรี สีหมงคลสกุล” ผอ.โครงการชลประทานอำนาจเจริญ ลงพื้นที่พบปะตัวแทนท้องถิ่น พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ อ่างเก็บน้ำร่องน้ำขับ และเขื่อนลำเซบาย ขณะนี้ปริมาณน้ำที่บรรจุได้แต่ละอ่างเต็มเกินร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งเร่งระบายทุกวัน แต่หากพายุฝนตกเข้ามาอีกในช่วงนี้หวั่นจะกระทบทันทีหากมวลน้ำมีจำนวนมาก โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมือง เทศบาลตำบลหัวตะพาน จึงขอให้ประชาชนเตรียมอพยพ พร้อมสัตว์เลี้ยงขึ้นไว้ในที่สูง เหมือนทุกปีที่เกิดอุทกภัย

@ ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์…”นายธัชกร หัตถาธยากูล” ผู้ว่าราชการจังหวัด ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำตะโคง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์​ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ เนื่องจากขณะนี้ ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังอันตรายจากลมแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

@ ที่ จ.ศรีสะเกษ…สถานการณ์น้ำท่วมได้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ภายหลังจากที่มีฝนตกหนักที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลลงมาจากเทือกเขา กลายเป็นน้ำป่าไหลมาลงในอ่างเก็บน้ำ จนล้นสปิลเวย์ทั้ง 3 อ่าง อันได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กซู, อ่างเก็บน้ำภูสิงห์ และอ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ดักน้ำจากภูเขา แต่ตอนนี้ล้นอ่างทุกแห่ง ทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลมาตามลำห้วยต่างๆ แต่เนื่องจากมวลน้ำมีปริมาณมาก ทำให้ไหลล้นขอบลำห้วยทุกแห่ง ไหลเข้าท่วมถนน ท่วมไร่นา พัดถนนหลายสายขาดการติดต่อ เช่น ถนนสายอำเภอไพรบึง ไปบ้านติม ก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอขุขันธ์ ใช้สัญจรด้วยความยากลำบาก..”นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงประชุมและมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล​ (VCS) ไปยังอำเภอ ทั้ง 22 อำเภอ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์และการเตรียมการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ได้มอบหมายอำเภอ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่รับทราบปัญหาโดยเร็ว ดำเนินการประสานงาน มีแผนในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว พร้อมทั้งติดตามการดำเนินการเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.นครราชสีมา…”นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา “ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์” นำทีม ส.จ. ส.ท. โคราชชาติพัฒนา ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และนำสิ่งของอุปโภคบริโภค ให้ประชาชนในพื้นที่บ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง จ.นครราชสีมา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม ทำให้การดำรงชีวิตลำบาก และไม่สามารถเดินทางสัญจรได้

จ.ชัยภูมิ…นายชัยวัฒน์ ตั้งพงษ์ ผอ.สพม.ชัยภูมิ รับมอบข้าวกล่องจำนวน 320 กล่อง และน้ำดื่มจำนวน 50 แพ็ก จากคณะผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนโรงเรียนนายางกลักพิทยาคม ซึ่ง สพม.ชัยภูมิ จะนำไปมอบให้กับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเทศบาลเมืองชัยภูมิ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวจังหวัดชัยภูมิที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยต่อไป

จ.สุรินทร์…นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยสาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกเยี่ยมประชาชนซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง พร้อมนำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปฉีดให้ถึงครัวเรือน

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน